เกษตรฯ เป็นเจ้าภาพถกความมั่นคงอาหาร เชื่อมความร่วมมือระหว่างเอเชียและยุโรป หวังเร่งผลักดันการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของประเทศสมาชิกอาเซม

ข่าวทั่วไป Monday May 9, 2011 15:09 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

วันนี้ (9พ.ค.2554) เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมแชงกรีล่า จังหวัดเชียงใหม่ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมความมั่นคงอาหารในกรอบเอเชีย-ยุโรป หรือ ASEM High-Level Conference on Food Security โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องจากภาคการเกษตรและการค้า ของประเทศสมาชิกอาเซมเข้าร่วมประชุมประมาณ 150 คน ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์เรื่องความมั่นคงด้านอาหารในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซม รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาแล้วสู่ประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงเพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซมได้เสนอแนวทาง ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นกรอบแนวทางความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหารในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซม

นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากปฏิญญาเฮลซิงกิซึ่งได้มีการบรรจุชื่อประเทศไทยเป็นแกนนำเรื่องความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน เนื่องจากประเทศไทยมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงอาหารอันดับหนึ่งของโลก ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้กำหนดจัดการประชุมเพื่อเปิดเวทีให้ประเทศสมาชิกอาเซมได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางในการกำหนดกรอบความร่วมมือเรื่องความมั่นคงด้านอาหารที่เป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างความมั่นคงด้านอาหารของประเทศสมาชิกอาเซม เนื่องจากความมั่นคงอาหารถือเป็นประเด็นท้าท้ายของประเทศทั่วโลกที่จะต้องร่วมกันดำเนินการและแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดขึ้นโดยเร็ว และในการประชุมอาเซมในครั้งนี้จะเป็นเวทีที่จะร่วมหารือกันใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การดำเนินการในการสร้างความมั่นคงอาหารในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก 2. การสร้างความร่วมมือในการเข้าถึงอาหารของประชาชาชนทุกภูมิภาคทั่วโลก และ 3. มาตรการสร้างความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืนในระยะยาว

“ จากปัจจัยต่างๆ ในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงอาหาร เพิ่มมากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการเพิ่มของประชากร การขยายตัวเศรษฐกิจเกิดใหม่ การนำธัญพืชไปผลิตพลังงานชีวภาพ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ การผันผวนและแปรปรวนสภาพภูมิอากาศจนก่อให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ ที่รุนแรงขึ้นและถี่ขึ้น ซึ่งให้เห็นชัดเจนจากราคาอาหารโลกได้เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 56 ในระหว่าง2549-2551 ส่งผลกระทบต่อประชากรโลกทำให้มีคนอดอยากหิวโหยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เช่น ปุ๋ยเคมี และสารเคมีการเกษตร เป็นต้น”

ดังนั้น การที่กรอบความร่วมมืออาเซมมีจุดแข็งที่สำคัญ เนื่องจากประกอบด้วยประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย และยุโรป ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายทั้งในแง่ของลักษณะทางภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม และระดับของการพัฒนา ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่อยู่ในเขตร้อน มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง สภาพภูมิอากาศเหมาะสมเพื่อการผลิต หลายประเทศมีศักยภาพในการผลิตอาหารเพื่อการส่งออก รวมทั้งประเทศไทย ในขณะที่ประเทศในยุโรป มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีในการผลิต รวมทั้งการจัดการตลอดห่วงโซ่การผลิต จะเป็นเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ วิธีปฏิบัติ รวมถึง การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือกัน เช่น ความร่วมมือระดับภูมิภาคด้านความมั่นคงอาหารในโครงการจัดตั้งองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียนบวกสามที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการดำเนินการ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการสำรองอาหารในภูมิภาคอาเซียน ประเทศเอเซียและยุโรปอาจใช้การสำรองอาหารเป็นแนวทางหนึ่งของความร่วมมือในกรอบอาเซมต่อไป” นายธีระ กล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ