สศข. 6 ร่วมเป็นคณะทำงานติดตามประเมินผลโครงการงบพัฒนาจังหวัดด้านการเกษตร จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมคัดเลือกโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area Approach) ในการติดตามประเมินผล
นายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 (สศข.6) จ.ชลบุรี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จังหวัดฉะเชิงเทราได้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามประเมินผลโครงการพัฒนาจังหวัดด้านการเกษตร โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน มีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนจาก สศข.6 ผู้แทนสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงาน ปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานสหกรณ์จังหวัด สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัด รวมทั้งผู้แทนจากมหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ เป็นคณะทำงานติดตามประเมินผล โดยมีอำนาจหน้าที่ในการคัดเลือกโครงการพัฒนาจังหวัดด้านการเกษตรประจำปีงบประมาณเพื่อติดตามประเมินผล กำหนดหลักเกณฑ์การติดตามประเมินผลและนำเสนอผลการติดตามประเมินผล
สำหรับปีงบประมาณ 2554 คณะทำงานฯ ได้พิจารณาคัดเลือกติดตามประเมินผลโครงการจากโครงการที่ได้รับการอนุมัติโดยใช้งบประมาณพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทราด้านการเกษตร ทั้งหมด 6 โครงการ ซึ่งโครงการที่ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ โครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area Approach) งบประมาณกว่า 4.7 ล้านบาท โดยโครงการฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบและเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยนำร่องจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งกิจกรรมของโครงการประกอบด้วย การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสินค้าเกษตรสู่ระบบมาตรฐานสินค้าปลอดภัย การให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน การสนับสนุนปัจจัยการผลิตและการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร โดยจุดดำเนินการอยู่ที่ หมู่ที่ 2,3,4 และ 5 ตำบลคลองเขื่อน อำเภอคลองเขื่อน พื้นที่ประมาณ 800 ไร่ และมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนกว่า 300 คน
ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้กำหนดวิธีการติดตามประเมินผลโดยลงไปติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการฯ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในพื้นที่ดำเนินโครงการ จำนวน 4 ครั้ง ประเมินผลโครงการ จำนวน 1 ครั้ง และกำหนดให้หน่วยงานที่ร่วมบูรณาการโครงการฯ ต้องรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินโครงการฯ เป็นประจำทุกเดือน ซึ่งพบว่าโครงการได้จัดอบรมถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแล้วกว่าร้อยละ 90 พร้อมทั้งแจกปูนมาร์ลจำนวน 1,921 ตัน น้ำหมักชีวภาพ 10,000 ลิตร และให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแล้ว โดยในเดือนพฤษภาคมจะเริ่มแจกปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด พันธุ์ปลา พันธุ์เป็ด เมล็ดพันธุ์ผัก สำหรับการการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร จะเริ่มตรวจรับรองหลังจากที่มีการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีไปแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งคาดว่า การดำเนินโครงการครั้งนี้ จะช่วยให้มีแหล่งผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยกว่า 800 ไร่ และเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมีกำลังใจที่จะมุ่งสร้างความปลอดภัยด้านอาหาร (Food safety) จากไร่นาสู่โต๊ะอาหาร (From Farm to Table) ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 จังหวัดชลบุรี
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--