สศก. ชี้ ปี 2554 เกษตรกรชาวสวนได้เฮ ราคาผลไม้มีแนวโน้มจะสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ลานิญา ซึ่งมีฝนตกมากกว่าปกติ ทำให้แตกใบอ่อนแทน โดย เงาะ มังคุด ทุเรียน ลองกอง ปริมาณผลผลิตภาพรวมทั้งประเทศคาดว่าลดลง โดยเฉพาะภาคใต้ เหตุจากประสบภัยธรรมชาติ ส่วนภาคเหนืออากาศหนาวเป็นช่วงๆ ทำให้ผลผลิตลำไยเพิ่มขึ้น
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า คณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคต่างๆ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะทำงานจัดทำข้อมูล ไม้ผลเศรษฐกิจ ของ สศก. ได้ติดตามสถานการณ์ผลผลิตผลไม้ของประเทศไทย ปี 2554 ซึ่งพบว่า ราคาผลไม้มีแนวโน้มจะสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ลานิญา ซึ่งมีฝนตกมากกว่าปกติ ทำให้แตกใบอ่อนแทน สำหรับ เงาะ มังคุด ทุเรียน ลองกอง พบว่า ปริมาณผลผลิตภาพรวมทั้งประเทศคาดว่าลดลงโดยเฉพาะภาคใต้ ส่วนภาคเหนืออากาศหนาวเป็นช่วงๆ ทำให้ผลผลิตลำไยเพิ่มขึ้น
โดยผลสำรวจทางภาคเหนือ พบว่า ฝนตกหลงฤดูในช่วงปลายปี 2553 ทำให้ลิ้นจี่ที่กำลังจะแทงช่อดอก กลายเป็นแตกใบอ่อนแทนการแทงช่อดอกรุ่นใหม่ซึ่งจะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย และจากสภาพเช่นนี้ ทำให้ลิ้นจี่ต้นเดียวกันมีผลผลิตหลายรุ่น ผลดีก็คือ ทำให้เกษตรกรสามารถทยอยเก็บผลผลิตขายได้ ส่วนลำไย สภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวย อากาศหนาวเป็นช่วงๆ ทำให้ลำไยที่เกษตรกรราดสารรุ่นหลัง คือ ช่วงปลายธันวาคมต่อถึงมกราคม 2554 แทงช่อดอกมาก อีกทั้งปีที่แล้วขายได้ราคาดี เกษตรกรจึงกล้าลงทุน และดูแลเอาใจใส่ดี ส่งผลปริมาณผลผลิตลำไยในแหล่งผลิตใหญ่ 8 จังหวัดภาคเหนือ 469,082 ตัน เพิ่มจากปีที่แล้วร้อยละ 23 ส่วนปริมาณผลผลิตลิ้นจี่ใน 4 จังหวัด ที่สำคัญในภาคเหนือ 32,049 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 17
ด้านทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในภาคตะวันออก พบว่า ผลผลิตทุเรียนและลองกองเพิ่มขึ้น ช่วงเดือนมีนาคม สภาพภูมิอากาศดี มีฝนตกบางช่วง ความชื้นในอากาศสูง การแทงช่อดอกมีมากและมีหลายรุ่น อัตราการติดผลก็มีมาก ทำให้ผลไม้ทุกชนิดเพิ่มขึ้นยกเว้นมังคุด แต่ด้วยสภาพอากาศ ที่ค่อนข้างแปรปรวน ฝนตกหนักลมกรรโชกแรงในช่วงกลางเดือนมีนาคม ทำให้ต้นทุเรียนได้รับความเสียหาย โดยการประมาณการครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พบว่า ผลผลิตโดยรวมประมาณ 758,857 ตัน สูงกว่าปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4 เป็นทุเรียน 344,089 ตัน, มังคุด 111,122 ตัน, เงาะ 237,592 ตันและลองกอง 66,054 ตัน
สำหรับภาคใต้ หลังจากปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติผลผลิตผลไม้ภาคใต้กลับลดลงอย่างน่าใจหายเหลือเพียง 306,352 ตัน ลดลงถึงร้อยละ 44 และต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี สาเหตุที่ลดลง นอกจากภัยพิบัติแล้ว ยังได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ลานิญา ซึ่งมีฝนตกมากกว่าปกติ ทำให้ผลไม้แตกใบอ่อนแทนการแทงช่อดอก และนอกจากนี้การเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น การขาดแคลนปัจจัยการผลิตเช่นเงินทุน และแรงงานเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการผลิตผลไม้ภาคใต้ทั้งสิ้น ดังนั้น คาดว่า ในปีนี้เกษตรกรชาวสวนจะขายผลไม้ได้ราคาดี ถึงแม้ปีที่แล้วราคาผลไม้อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ปีนี้ปริมาณผลผลิตผลไม้เกือบทุกชนิดลดลงโดยเฉพาะภาคใต้ ทำให้ราคาผลไม้มีแนวโน้มจะสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วแน่นอน รองเลขาธิการ กล่าวทิ้งท้าย
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--