สศก.ร่วมประชุม APEC SOM ถกประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ครั้งที่ 2/2554

ข่าวทั่วไป Tuesday May 24, 2011 15:14 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. ร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 2/2554 (APEC SOM) วันที่ 14 — 19 พ.ค. ที่ผ่านมา ณ สหรัฐอเมริกา พร้อมร่วมการประชุม APEC High Level Dialogue on Food Security ร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นการแก้ไขปัญหาความมั่นคงอาหารทางการตลาดโดยไม่ใช้มาตรการจำกัดการส่งออก และประเด็นการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยลดการสูญเสียภายหลังการเก็บเกี่ยว หวังเสริมสร้างสมรรถนะด้านการผลิตและการค้าอาหารอันจะช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้แก่เกษตรกรมากขึ้นในอนาคต

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยภายหลังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยภาคเกษตร ร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 2/2554 (APEC Seniors Officials Meeting: SOM) ระหว่างวันที่วันที่ 14 — 19 พฤษภาคม 2554 ณ เมือง Big Sky มลรัฐมอนทาน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงการเข้าร่วมประชุม SOM Friends of the Chair (SOM FoTC) on Food Security ซึ่งที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าของผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติงานความมั่นคงอาหารเอเปคภายใต้ปฏิญญานิอิกาตะว่าด้วยความมั่นคงอาหารเอเปค โดยรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปคได้ให้การรับรอง เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2553 และแนวทางการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหารในอนาคตของเอเปค รวมถึงการจัดตั้ง Policy Partnership on Food Security (PPFS) ที่เสนอโดย APEC Business Advisory Council อันจะเป็นเวทีการหารือเพื่อกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงอาหารร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ดี ที่ประชุมยังไม่ให้การรับรองข้อเสนอดังกล่าวจนกว่าจะมีการยกร่างขอบเขตการทำงาน หรือ Terms of Reference: TOR ของ PPFS แล้วเสร็จและเสนอให้สมาชิกเห็นชอบในระหว่างการประชุม APEC SOM ครั้งที่ 3/2554 ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนต่อไป โดยในเบื้องต้นประเทศไทยเสนอให้กำหนดขอบเขตการทำงานของ PPFS เป็น 2 ด้านคือ ด้านการตลาดสินค้าอาหาร และด้านอุปทานสินค้าอาหาร

นอกจากนี้ เลขาธิการ สศก. และคณะได้เข้าร่วมการประชุม APEC High Level Dialogue on Food Security ซึ่งที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ใน 2 ประเด็นคือ การแก้ไขปัญหาความมั่นคงอาหารทางการตลาดโดยไม่ใช้มาตรการจำกัดการส่งออก ซึ่งไทยยังสงวนท่าทีไม่ระบุชัดเจนว่า จะดำเนินการห้ามการส่งออกอาหาร เช่นเดียวกับรัสเซียและจีนซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีประชากรจำนวนมาก จึงเกรงว่าอาหารอาจไม่เพียงพอสำหรับบริโภคภายในประเทศในบางโอกาสหากอนุญาตให้มีการส่งออกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ไทยจะขอพิจารณาเป็นกรณีหากเกิดปัญหาภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ ไม่ใช่เป็นการห้ามการส่งออกอาหารทั้งหมด และสำหรับประเด็นการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยลดการสูญเสียภายหลังการเก็บเกี่ยว ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันในการผลักดันให้เกิดขึ้นในเอเปค อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมประชุมดังกล่าวข้างต้นเป็นการหารือเพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกเอเปคเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันโดยเฉพาะด้านความมั่นคงอาหาร ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างสมรรถนะด้านการผลิตและการค้าอาหารอันจะช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้แก่เกษตรกรมากขึ้นในอนาคต

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ