สศก. เผย ชาวโคนมร่วมมือปรับปรุงฟาร์มเข้าสู่มาตรฐาน GAP ผลิตน้ำนมดิบคุณภาพ

ข่าวทั่วไป Wednesday June 1, 2011 13:07 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก.ลงพื้นที่ประเมินผลยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร โดยสัมภาษณ์เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่จังหวัดสระบุรี พบ เกษตรกรส่วนใหญ่มีการดำเนินการปรับปรุงฟาร์มเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP เพื่อให้ได้ผลผลิตน้ำนมคุณภาพได้มาตรฐาน และเกษตรกรเห็นว่าการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค แนะการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับปรุงมาตรฐานฟาร์มอย่างแท้จริงต่อดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประเมินผลยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งนับเป็นเป็นภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการดำเนินงานให้เป็นแหล่งสินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัย และนำไปสู่ความมั่นคงทางด้านอาหาร เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เน้นให้ความสำคัญเรื่องมาตรฐาน ของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์จะครอบคลุมในทุกด้านทั้ง พืช ประมง และปศุสัตว์ ซึ่งในส่วนของปศุสัตว์ได้มีการศึกษาโคนม เนื่องจากให้ผลผลิตน้ำนมดิบที่เป็นแหล่งอาหารโปรตีนและแคลเซียมที่จำเป็นต่อร่างกายตั้งแต่วัยเด็กไปถึงวัยผู้สูงอายุ และยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารอื่นๆ ได้หลากหลายชนิด ดังนั้น การสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบมาตรฐานเพื่อให้ได้น้ำนมที่มีคุณภาพจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยศูนย์ประเมินผล ได้ดำเนินการผลการประเมินผล โดยการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่จังหวัด สระบุรีเบื้องต้น พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีการดำเนินการปรับปรุงฟาร์มเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP (เกษตรดีที่เหมาะสม) เพื่อให้ได้ผลผลิตน้ำนมคุณภาพได้มาตรฐาน โดยเกษตรกรมีทัศนคติต่อการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว ว่ามีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งในและนอกประเทศ ร้อยละ 48 รองลงมาคือ สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ซื้อ ร้อยละ 39

ส่วนการเข้าร่วมดำเนินงาน เกิดจากมีเจ้าหน้าที่เข้าไปแนะนำร้อยละ 62 และมีความสนใจด้วยตัวเอง ร้อยละ 29 โดยเกษตรกรต้องมีการปรับปรุงฟาร์ม ได้แก่ โรงเรือน ที่เก็บอาหาร รั้ว ทางเข้าฟาร์ม และอ่างล้างเท้าป้องกันเชื้อโรค เป็นต้น เพื่อให้ถูกสุขลักษณะ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 90,000 บาท ต่อราย สำหรับด้านการตลาด พบว่า เกษตรกรส่งน้ำนมดิบเข้าสู่สหกรณ์เป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 76 รองลงมาได้แก่ บริษัทรับซื้อน้ำนมดิบ ร้อยละ 16 และวิสาหกิจชุมชน ร้อยละ 8 ส่วนราคาน้ำนมดิบเป็นไปตามที่คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมกำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เปลี่ยนแปลง ด้านการดำเนินงานของเกษตรกรประสบปัญหาต่างๆ อาทิ ด้านใบรับรอง ได้แก่ การขาดการสนับสนุนของเจ้าหน้าที่ในการเยี่ยมฟาร์มและให้คำแนะนำ ร้อยละ 34 รองลงมาคือ ขั้นตอนการปฏิบัติมีมาก และขาดเงินทุน ปัญหาด้านการผลิตของเกษตรกรได้แก่ ราคาอาหารสัตว์สูง ร้อยละ 60 และขาดแรงงาน ร้อยละ 15 ส่วนปัญหาด้านการตลาด เกษตรกรยังเห็นว่าราคาน้ำนมดิบที่เกษตรกรได้รับต่ำกว่าต้นทุนที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์สิ่งสำคัญ คือ ความต่อเนื่องในการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับปรุงมาตรฐานฟาร์มอย่างแท้จริง เช่น การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่เกษตรกรรายย่อยสำหรับการปรับปรุงฟาร์ม พร้อมทั้งมีการสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป รองเลขาธิการ กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ