การค้าสินค้าเกษตรอาฟตาไตรมาศแรกของปีไทยยังได้ดุลการค้า เกษตรฯ ระบุพบมูลค่าการค้าพุ่งกว่าปีที่แล้วถึง 12.95%

ข่าวทั่วไป Tuesday June 7, 2011 13:22 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

นายธีระ วงศ์สมุทร รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์นำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตร ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ในปี 2554 ระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ ในรอบ 3 เดือน คือ ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2554 โดยหากพิจารณามูลค่าการส่งออกและนำเข้าโดยรวมสินค้ายางพาราธรรมชาติ จะพบว่า ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับอาเซียน 9ประเทศมากขึ้น คิดเป็นมูลค่า 51,400 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก 68,000 ล้านบาท และมูลค่าการนำเข้า 16,500 ล้านบาท โดยมูลค่าการค้ารวมสูงถึง 84,600 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 12.95

และหากเปรียบเทียบกับสถานการณ์การค้า (ไม่รวมยางพารา)ในช่วงเดียวกันของปี 2553 พบว่า มีมูลค่าการค้า 68,840 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 63,100 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปี 2553 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.09 โดยไทยส่งออก 52,300 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.70 ขณะที่ไทยนำเข้า 16,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.75 ไทยจึงได้เปรียบดุลการค้า 35,800 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาร้อยละ 15.32

สำหรับกลุ่มสินค้าที่ไทยขยายปริมาณการส่งออกไปอาเซียนมากขึ้น ได้แก่ หอมหัวใหญ่และหอมหัวเล็กสดแช่เย็น ลำไยสด มะม่วงสด ชิ้นส่วนสัตว์ปีกแช่แข็ง เนื้อกระบือแช่แข็ง และใบจากที่ใช้มวนบุหรี่ เป็นต้น และสินค้าที่มีการนำเข้าจากอาเซียนมากขึ้น ได้แก่ น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันโอเลอินจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย กากน้ำมันจากผลปาล์มสำหรับทำอาหารสัตว์ มันสำปะหลังจากกัมพูชา มะพร้าวผลสดและผลแห้งจากอินโดนีเซียและเวียดนาม เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ โคกระบือมีชีวิต และไม้ตัดดอกสำหรับจัดช่อ

นอกจากนี้ในส่วนสถานการณ์การเปิดเสรีการค้า(FTA)กับประเทศอื่นที่มีผลบังคับใช้แล้ว โดยมีการติดตามในรายกรอบเจรจาทั้งในเชิงมูลค่าและปริมาณ แบ่งเป็น

  • ไทย-ญี่ปุ่น ไทยส่งออก 32,873 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเดียวกันของปี 2553 เนื่องจากส่งออก สัตว์มีชีวิต น้ำตาล และเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น และนำเข้า 2,139 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% เนื่องจากนำเข้ายาสูบ วัตถุจากพืชที่ใช้ถักสาน และปลาและสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น แต่ไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 30,734 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17%
  • ไทย-จีน ได้เปรียบดุลการค้า 10,010 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จาก 9,600 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปี 2553 โดยสินค้าเกษตรที่สำคัญได้แก่สินค้าผัก ไทยได้เปรียบดุลการค้า 8,319 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เนื่องจากการส่งออกมันสำปะหลังได้มากขึ้น แต่ หากไม่รวมมันสำปะหลังแล้ว ไทยจะเสียเปรียบดุลการค้าในตอนสินค้าผัก 1,131 ล้านบาท ขาดดุลเพิ่มขึ้น 22% สำหรับสินค้าผลไม้ ไทยเสียเปรียบดุลการค้า 671 ล้านบาท ขาดดุลเพิ่มขึ้น 19%
  • ไทย-เกาหลี ไทยส่งออก 4,675 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61% จากช่วงเดียวกันของปี 2553 เนื่องจากส่งออกไขมัน น้ำมันจาก พืช/สัตว์ กาแฟ ชา เครื่องเทศได้เพิ่มขึ้น และนำเข้า 1,551 ล้านบาท ลดลง 3% จากช่วงเดียวกันของปี 2553 เนื่องจากนำเข้ากาแฟ ชา เครื่องเทศลดลง ไทยได้เปรียบดุลการค้า 3,124 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% เทียบกับช่วงเดียวกันของ ปี 2553
  • ไทย-ออสเตรเลีย ไทยส่งออก 6,559 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากช่วงเดียวกันของปี 2553 เนื่องจากส่งออกเมล็ดพืชและผลไม้ที่มีน้ำมัน เครื่องดื่ม สุรา น้ำส้มสายชูได้เพิ่มขึ้น และนำเข้า 4,731 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% ไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้า 1,828 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27%
  • ไทย-อินเดีย เฉพาะสินค้าเกษตร Early Harvest 11 รายการภายใต้ ITFTA เช่น ผลไม้ ปลากระป๋อง ไทยส่งออก 4.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 171% จากช่วงเดียวกันของปี 2553 เนื่องจากส่งออกปลาซาร์ดีนกระป๋อง มังคุด เพิ่มขึ้น และนำเข้า 71.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น49% เนื่องจากนำเข้าองุ่นเพิ่มขึ้นมากทดแทนการนำเข้าจากออสเตรเลียที่ลดลง ส่งผลให้ไทยยังคงเสียเปรียบดุลการค้า 67.79 ล้านบาท

แต่หากพิจารณาสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปตามพิกัดตอนที่ 01-24 พบว่าไทยส่งออก 790 ล้านบาท ลดลงถึง 83% จากช่วงเดียวกันของปี 2553 เนื่องจากส่งออกวัตถุจากพืชที่ใช้ถักสาน น้ำตาล นม ไข่สัตว์ปีก ลดลงมาก และนำเข้า 3,290 ล้านบาท ลดลงถึง 23% จากช่วงเดียวกันของปี 2553 ส่งผลให้ไทยเสียเปรียบดุลการค้า 2,500 ล้านบาท

  • ไทย-นิวซีแลนด์ ไทยส่งออก 1,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49% จากช่วงเดียวกันของปี 2553 เนื่องจากส่งออกหนังสัตว์ และเนื้อสัตว์ได้เพิ่มขึ้น และนำเข้า 3,646 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 55% เนื่องจากนำเข้าสัตว์มีชีวิตเพิ่มขึ้น ไทยยังคงเสียเปรียบดุลการค้า เช่นเดียวกับก่อนมี FTA 2,367 ล้านบาท ขาดดุลเพิ่มขึ้น 59% จากช่วงเดียวกันของปี 2553

สำหรับปริมาณการนำเข้าในสินค้าบางรายการ เพื่อให้สามารถเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงของการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยในสินค้าบางรายการเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการนำเข้าช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม 2554 เทียบกับค่าเฉลี่ยรายเดือนของช่วงเดียวกัน 3 ปีย้อนหลัง พบว่า สินค้าที่การนำเข้าสูงกว่าปริมาณอ้างอิง มี 3 สินค้า ได้แก่ นมผง เนื้อโค และ กระเทียม ขณะที่สินค้าที่การนำเข้าใกล้เคียงกับปริมาณอ้างอิง มี 6 ชนิดสินค้าได้แก่ ส้ม แอปเปิล สาลี่ องุ่น หัวหอมใหญ่และหอมหัวเล็ก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ