สศก. เร่งศึกษาแนวทางบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในกิจการเกษตร 10 จังหวัดทั่วประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday June 13, 2011 13:35 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. ศึกษาแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในกิจการเกษตรที่สำคัญใน 10 จังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวมาขอรับใบอนุญาตทำงานมากที่สุดของประเทศ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ และผลกระทบต่างๆ หวังให้ได้มาซึ่งรูปแบบที่เหมาะสมของการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรของประเทศไทย

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานประเภทงาน 3’D หรืองานหนัก (Difficult) สกปรก (Dirty) และอันตราย(Dangerous) ในภาคเกษตร โดยเฉพาะในงานประมงทะเล กุ้ง อ้อย สวนผลไม้ สวนปาล์ม สวนยางพารา ฯลฯ ซึ่งแรงงานไทยไม่นิยมทำ เป็นเหตุนายจ้างจำนวนมากต้องนำแรงงานต่างด้าวมาใช้ ส่งผลต่อประเทศไทยทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุข นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ประเทศไทยถูกจับตามองจากประชาคมโลก ในเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงาน/สิทธิมนุษยชน/การใช้แรงงานเด็ก ซึ่งจะเป็นประเด็นที่อาจจะถูกหยิบยกเป็นประเด็นกีดกันทางการค้าของสินค้าเกษตรดังกล่าวในระยะต่อไปได้

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในเรื่องการเสนอแนะนโยบายในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเกษตรและได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในคณะอนุกรรมการจัดระบบและกำหนดมาตรฐานการจ้างแรงงานต่างด้าว จึงได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในกิจการเกษตรที่สำคัญเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ ปัญหา สาเหตุ และผลกระทบต่างๆ ของการใช้แรงงานต่างด้าวในภาคการเกษตรจากการสัมภาษณ์เกษตรกร/ผู้ประกอบการเกษตร แรงงานต่างด้าว หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยศึกษาเฉพาะจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวมาขอรับใบอนุญาตทำงานมากที่สุด 10 จังหวัดในประเทศไทยที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรเป็นหลัก ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ภูเก็ต ตาก ระนอง สมุทรปราการ ชลบุรี นครปฐม และสงขลา เพื่อให้ได้มาซึ่งรูปแบบที่เหมาะสมของการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรของประเทศไทย และเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในภาคเกษตรมีแรงงานใช้ในการผลิตได้อย่างเพียงพอต่อการผลิต/การส่งออก รวมทั้งมีการใช้แรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้แรงงานต่างด้าวได้รับการคุ้มครองตามสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ ยังช่วยลดข้อกีดกันทางการค้าด้วยมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี และทำให้ประเทศไทยสามารถเลื่อนลำดับการจัดกลุ่มขึ้นเป็นลำดับที่ 1 หรือเป็นประเทศที่สามารถปฏิบัติได้ตามกฎหมายขั้นต่ำว่าด้วยการยุติการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่กลุ่มประเทศที่มีการค้ามนุษย์แต่ยังไม่มีความพยายามแก้ไขอย่างจริงจัง และต้องจัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการจัดทำรายงานการค้ามนุษย์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวม 177 ประเทศ เผยแพร่สู่สาธารณชนทุกปี ทั้งนี้ ในส่วนของผลศึกษาแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในกิจการเกษตร ทั้ง 10 จังหวัด ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อประมวลผล และจะเผยแพร่ผลการศึกษาให้ทราบในระยะต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ