สศข.2 ร่วมประชุมเครือข่ายสับปะรดภาคเหนือ พิจารณาสถานการณ์ผลผลิตและราคา ช่วยเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดประสบปัญหาประสบปัญหาราคารับซื้อ และต้นทุนการผลิตที่สูง แนะเกษตรกรควรมีการรวมกลุ่ม และขึ้นทะเบียนเพื่อนำข้อมูลไปใช้วางแผนจัดการผลผลิตออกสู่ตลาด พร้อมทำ contract framing วางแผนการผลิต การตลาดกับโรงงานร่วมกัน
นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 2 (สศข.2) จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมเครือข่ายสับปะรดภาคเหนือกับผู้แทนเกษตรกร และนักวิชาการกรมส่งเสริมการเกษตร ถึงสาเหตุที่ราคาสับปะรดมักจะตกต่ำในเดือนพฤษภาคม — มิถุนายน ของทุกปี เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ทำให้เกษตรกรประสบความเดือดร้อน และจากสถิติการเกษตรของประเทศไทยปี 2554 เขตภาคเหนือ 7 จังหวัด (เชียงราย ลำปาง พิษณุโลก อุตรดิตถ์ อุทัยธานี กำแพงเพชร และพะเยา) มีพื้นที่ปลูกสับปะรดประมาณ 60,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 10 ของประเทศ มีผลผลิตที่ออกสู่ตลาดบางส่วนขายเพื่อบริโภคผลสด แต่ผลผลิตส่วนใหญ่จะถูกส่งไปขายโรงงานแปรรูปในแต่ละภาคตามจังหวัดต่างๆ เช่น นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี และ ระยอง ซึ่งต้องเสียค่าขนส่งสูงและระยะเวลาในการขนส่งนาน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสับปะรดสูง ผลผลิตสับปะรดมีโอกาสเสียหายมาก และถูกตัดน้ำหนักผลผลิตที่เสียหาย
ดังนั้น จังหวัดพิษณุโลกโดยกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดประชุมเครือข่ายสับปะรดภาคเหนือ และจากการหารือร่วมกันในที่ประชุม พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดจะประสบปัญหาราคารับซื้อผลผลิตในพื้นที่หน้าแผง ซึ่งผู้รวบรวมผลผลิตส่งโรงงานตั้งราคารับซื้อแตกต่างกัน เนื่องมาจากคุณภาพของผลผลิต อีกทั้งโรงงานต้องการผลผลิตป้อนเข้าโรงงานแต่ไม่ค่อยมีผลผลิตเข้าสู่โรงงาน โรงงานจึงปรับราคารับซื้อที่หน้าโรงงานสูงขึ้นและแจ้งราคารับซื้อให้แผงทราบเพื่อตั้งราคารับซื้อในพื้นที่ รวมถึงแผงรับซื้อในพื้นที่รับซื้อผลผลิตไม่ได้คุณภาพส่งเข้าโรงงาน ซึ่งเป็นผลผลิตที่ยังไม่แก่เต็มที่ทำให้คุณภาพของสีเนื้อสับปะรดไม่เป็นที่ต้องการของตลาด โรงงานจึงสั่งระงับการนำผลผลิต กอปรกับเกษตรกรผู้ปลูกยังขาดการรวมกลุ่มเพื่อการบริหารจัดการวางแผนการผลิตร่วมกัน
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดแต่ละพื้นที่ควรมีการรวมกลุ่ม และต้องขึ้นทะเบียนเพื่อนำข้อมูลไปใช้วางแผนจัดการผลผลิตออกสู่ตลาด การกระจายผลผลิตสู่โรงงานลดการตกค้างติดคิวลงหลายวัน มีการถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตการตลาด เช่น การใช้สารไนโตรเจนกับการเพาะปลูก สารไนเตรทตกค้าง และให้เกษตรกรผู้ปลูกกับโรงงานร่วมทำ contract framing วางแผนการผลิต การตลาดร่วมกัน และมีมาตรการกำหนดราคารับซื้อสับปะรดราคาเดียวหรือใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม ผลจากการประชุมครั้งนี้ จะได้มีการนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายสับปะรดแห่งชาติเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--