เกษตรฯ พร้อมจัดทำท่าทีเปิดตลาดสินค้า ภายใต้การเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี ไทย-ชิลี

ข่าวทั่วไป Friday July 1, 2011 11:11 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

กระทรวงเกษตรฯ พร้อมจัดทำท่าทีเปิดตลาดสินค้าเกษตรภายใต้การเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีไทย-ชิลี เพื่อเปิดตลาดสินค้าไทยสู่ตลาดอเมริกาใต้ แนะ ควรดำเนินการเจรจายึดตามเจตนารมณ์ของกรอบการเจรจาเขตการค้าเสรี ไทย-ชิลี ที่เสนอให้มีระยะเวลาการปรับตัวที่เหมาะสมสำหรับสินค้าที่อาจจะได้รับผลกระทบ

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในฐานะหน่วยงานกลางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีหน้าที่จัดทำ FTA ภาคเกษตรในกรอบต่างๆ พร้อมที่จะจัดทำท่าทีเปิดตลาดสินค้าเกษตรภายใต้การเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีไทย-ชิลี เพื่อเปิดตลาดสินค้าไทยสู่ตลาดอเมริกาใต้ ตามกรอบการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-ชิลี ที่รัฐสภาได้อนุมัติไว้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2553 ซึ่งชิลีนับว่ามีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดในภูมิภาคอเมริกาใต้ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และเป็นประเทศที่มีการนำเข้าจากทั่วโลกค่อนข้างสูงโดยเฉพาะจากภูมิภาคเอเชีย และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน อย่างไรก็ตาม ไทยเสียเปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรกับชิลีมาโดยตลอด เนื่องจากการนำเข้าวัตถุดิบจำพวกปลาและสัตว์น้ำ และผลไม้เมืองหนาว ซึ่งในช่วงปี 2551-2553 พบว่า ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้าเฉลี่ย 1,694 ล้านบาทต่อปี โดยนำเข้าจากชิลีเฉลี่ย 2,451 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสินค้านำเข้าสำคัญ คือ ปลา องุ่นสด ไวน์ เชอร์รี่สด

สำหรับการส่งออกจากไทยไปชิลีเฉลี่ย 757 ล้านบาทต่อปี สินค้าส่งออกสำคัญ คือ ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง ข้าวนึ่ง ข้าวหอม ซึ่งคาดว่าประโยชน์ที่ไทยจะได้จากการทำเขตการค้าเสรีกับชิลี คือ ไทยสามารถนำเข้าวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตสินค้าของไทย ได้แก่ อาหารสัตว์ ธัญพืช ผลไม้สด และสินค้าประมง และสามารถส่งออก อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูปได้เพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีการนำเข้าผลไม้เมืองหนาวจากชิลีเพิ่มมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ในการลด/เลิกภาษีสินค้าเกษตรระหว่างกันนั้น ชิลีเป็นประเทศที่ใช้มาตรการด้านภาษีค่อนข้างต่ำ คือเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรส่วนใหญ่เพียงร้อยละ 6 เท่านั้น แต่ยังคงมีการใช้ระบบกรอบราคาเพื่อประกันราคาขั้นต่ำและขั้นสูงของสินค้า (Price Band System) ในการปกป้องสินค้าเกษตรบางรายการ เช่น ข้าวสาลีและเมสลีน แป้งข้าวสาลี น้ำตาลอ้อย และน้ำตาลจากหัวบีท ดังนั้น ไทยควรจะต้องดำเนินการเจรจาโดยยึดตามเจตนารมณ์ของกรอบการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-ชิลี ซึ่งเสนอให้มีระยะเวลาการปรับตัวที่เหมาะสมสำหรับสินค้าที่อาจจะได้รับผลกระทบ โดยในส่วนของการจัดทำท่าทีการเปิดตลาดสินค้าเกษตรนั้น ได้ดำเนินการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว และจะต้องมีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเวทีต่างๆ เพื่อพิจารณาภาพรวมของการเจรจาต่อไป เลขาธิการ กล่าวในที่สุด

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ