สศก. เปิดผลสำรวจแรงงานต่างด้าวในกิจการเกษตรจังหวัดเชียงใหม่

ข่าวทั่วไป Monday July 25, 2011 15:55 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. สำรวจแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในกิจการเกษตร จ.เชียงใหม่ ระบุ มีแนวโน้มการจ้างลดลง เหตุจากผู้ประกอบการบางส่วนเลิกกิจการ และแรงงานต่างด้าวหันไปทำงานบริการและก่อสร้างแทน เผย การจูงใจให้แรงงานไทยทำงานแทนแรงงานต่างด้าวยังทำได้ยาก เพราะเป็นค่านิยมในการทำงาน แนะให้มีผู้แทนเกษตรกรรายย่อยในคณะอนุกรรมการแรงงานต่างด้าวของจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานให้แก่ภาคเกษตร

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการดำเนินการของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในการลงพื้นที่สำรวจกลุ่มผู้ประกอบการ หอการค้าจังหวัด เกษตรอำเภอ และ เกษตรกร พร้อมศึกษาแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในกิจการเกษตรที่สำคัญจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนับเป็นจังหวัดแรก ที่ได้ทำการศึกษาจาก 10 จังหวัดที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวมากที่สุดในประเทศไทย (สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ภูเก็ต ตาก ระนอง สมุทรปราการ ชลบุรี นครปฐม และสงขลา) พบว่า การใช้แรงงานต่างด้าวในกิจการเกษตรที่สำคัญของเชียงใหม่ มีมากในกิจการ สวนส้ม หอม กระเทียม ลิ้นจี่ ทำนา และโรงสี แต่มีแนวโน้มการจ้างแรงงานต่างด้าวลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการบางส่วนได้เลิกกิจการไป และแรงงานต่างด้าวที่ทำงานมานานมีฝีมือมากขึ้นจึงเปลี่ยนไปทำงานบริการ และก่อสร้างแทน เพราะจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวมีการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ผู้ประกอบการในกิจการต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก จึงจูงใจให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานด้วยการให้อัตราค่าจ้างสูงกว่างานในภาคเกษตร เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการในกิจการเกษตรและเกษตรกรขาดแคลนแรงงาน

นอกจากนี้ การจูงใจให้แรงงานไทยทำงานแทนแรงงานต่างด้าวนั้นทำได้ยาก เพราะเป็นค่านิยมในการทำงาน อีกทั้งแรงงานไทยมีการศึกษาดีขึ้น จึงไปทำงานนอกภาคเกษตร เพราะมีค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีกว่า ซึ่งแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เชียงใหม่ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานต่างด้าวเชื้อสายไทยใหญ่ ที่ต้องการอยู่เมืองไทยอย่างถาวรโดยจะเข้ามาอาศัยกันแบบทั้งครอบครัว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ประกอบการเกษตรรายใหญ่และหอการค้าจังหวัดจะมีส่วนร่วมในคณะอนุกรรมการแรงงานต่างด้าวของจังหวัดในการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว และต้องการช่วยเหลือให้แรงงานต่างด้าวได้รับการคุ้มครองตามสิทธิมนุษยชนก็จริง แต่ว่าเกษตรกรรายย่อยนั้น ไม่มีผู้แทนในคณะอนุกรรมการนี้รวมทั้งคณะอนุกรรมการใหญ่ระดับประเทศ

สำหรับข้อเสนอแนะ และแนวทางในการแก้ไขปัญหานั้น ผลสำรวจความคิดเห็น พบว่า ควรมีการพิสูจน์สัญชาติในไทยให้แก่แรงงานต่างด้าวที่มีปัญหาในการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อจะได้มีบัตรประจำตัวแสดงสถานภาพติดตัวไม่ให้ถูกจับกุมและสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้มาจดทะเบียน เพราะเกษตรกรหรือผู้ประกอบการไม่มีเวลาพาแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนหรือรายงานตัวตามกำหนดนั้น ควรมีการกระจายอำนาจหรือออกกฎหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์การบริหารส่วนตำบลดำเนินการเรื่องการขอใบอนุญาตทำงาน/การรายงานตัว รวมทั้งการเก็บค่าธรรมเนียม และควรให้มีผู้แทนเกษตรกรรายย่อยในคณะอนุกรรมการแรงงานต่างด้าวของจังหวัดในการนำเสนอปัญหาและข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานให้แก่ภาคเกษตร ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จะลงพื้นที่สำรวจให้ครบทั้ง 10 จังหวัด โดยจังหวัดต่อไป คือ จังหวัดระนอง และ สุราษฎร์ธานี ซึ่งจะลงพื้นที่ในช่วงปลายเดือน กรกฎาคม และ สิงหาคมนี้ นายอภิชาต กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ