สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยผลการดำเนินงานการพัฒนาฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเข้าสู่มาตรฐานอินทรีย์ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการที่เพาะเลี้ยงปลาตามมาตรฐานอินทรีย์ สามารถนำความรู้มาใช้ได้จริง และช่วยลดต้นทุนด้านอาหารได้มากขึ้น
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยศูนย์ประเมินผล ได้ดำเนินการติดตามประเมินผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเข้าสู่มาตรฐานอินทรีย์ของกรมประมงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อมุ่งส่งเสริมการพัฒนาสัตว์น้ำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบอินทรีย์เป็นการเลี้ยงที่ปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะ ใช้ระบบการพึ่งพิงธรรมชาติ ทำให้สินค้ามีคุณภาพไร้สารเคมีตกค้าง โดยกรมประมงได้ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์ และถ่ายทอดเทคโนโลยีพร้อมทั้งสนับสนุนพันธุ์ปลาให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งได้แก่ ปลาดุก ปลานิล ปลาตะเพียน และปลาสวาย เป็นต้น
สำหรับการติดตามประเมินผล พบว่า เกษตรกรยังอยู่ในระยะปรับเปลี่ยนจากระบบทั่วไปมาเป็นระบบอินทรีย์ โดยเกษตรกรร้อยละ 86 ได้นำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมมาใช้ เช่น การผลิตอาหาร การใช้สารสกัดธรรมชาติในการป้องกันและกำจัดโรค ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตจากการผลิตอาหารในฟาร์มใช้เอง โดยลดต้นทุนค่าอาหารลงร้อยละ 35 เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่จะเลี้ยงปลาเพื่อบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายเป็นรายได้เสริม สำหรับเหตุผลที่เกษตรกรยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบการผลิตตามมาตรฐานสัตว์น้ำอินทรีย์ เนื่องจากพันธุ์ปลาที่ใช้เลี้ยงต้องเป็นพันธุ์ที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์และเลี้ยงตามระบบอินทรีย์ผลิตระบบอินทรีย์ และผู้เลี้ยงยังขาดแคลนอาหารช่วงอนุบาล ซึ่งยังต้องพึ่งอาหารในท้องตลาดที่อาจมีส่วนประกอบของพืชดัดแปลงพันธุกรรม อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาสู่การผลิตตามมาตรฐานสัตว์น้ำอินทรีย์ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายจากค่าอาหารและการใช้ยาปฏิชีวนะ มีรายได้เสริมจากการเลี้ยงปลา และเป็นการผลิตอาหารโปรตีนปลอดภัย ที่นับว่ามีราคาถูกเมื่อเทียบกับอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ นายอภิชาต กล่าว
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--