ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Tuesday August 9, 2011 14:46 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดสุกรในสัปดาห์นี้ยังคงคึกคัก ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากโรค PRRS (โรคทางระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ) และสภาพอากาศที่แปรปรวนมีผลต่อปริมาณการผลิตและการเจริญเติบโตของสุกร ทำให้สุกรที่ออกสู่ตลาดมีปริมาณลดลง ประกอบกับมีการส่งออกสุกรมีชีวิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น แม้ว่ากรมการค้าภายใน โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้ออกมาตรการห้ามเคลื่อนย้ายสุกรมีชีวิตออกนอกประเทศเป็นการชั่วคราว มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2554 ก็ตาม แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือสูงขึ้น

กรมการค้าภายใน รายงานสถานการณ์ราคาหมู แม้ว่าขณะนี้เนื้อหมูจะเป็นสินค้าควบคุม แต่กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวดเข้าควบคุม มีเพียงการประกาศราคาแนะนำเท่านั้น ขณะที่พบว่าราคาเนื้อหมูสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและเริ่มพบการเอาเปรียบผู้บริโภค ดังนั้นกรมการค้าภายในจึงเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ ให้ประกาศราคาควบคุมหมูทั้งระบบทั่วประเทศทั้งหมูเป็นหน้าฟาร์ม รวมถึงราคาขายปลีกเนื้อหมู

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 73.73 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 71.76 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 2.75 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 71.42 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 67.74 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 76.37 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 74.03 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 2,400 บาท (บวกลบ 80 บาท) สูงขึ้นจากตัวละ 2,200 บาท (บวกลบ 78 บาท) ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 9.09

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 80.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 78.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.55 และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 90.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 88.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.26

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากราคาเนื้อสุกรที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคเนื้อไก่มากขึ้น ขณะที่ปริมาณไก่เนื้อออกสู่ตลาดไม่มากนัก แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือสูงขึ้นเล็กน้อย

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 หน่วยบริการข่าวสารด้านตลาดสัตว์ปีก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) เผยถึง สถานการณ์คลื่นความร้อนซึ่งกำลังปกคลุมทางตอนกลางของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในเมือง Midwest ตอนบน ทำให้สัตว์ปีกล้มตายและน้ำหนักลดอย่างผิดปกติ พื้นที่ได้รับผลกระทบความเสียหาย เช่น ฟาร์มเลี้ยงไก่งวง ฟาร์มเลี้ยงไข่ไก่ และฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ โดยฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อหลายแห่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจำนวนเกือบ 100,000 ตัวล้มตาย แต่ยังไม่สามารถระบุจำนวนสัตว์ปีกล้มตายที่แน่นอนได้ เนื่องจากมีรายงานการล้มตายเข้ามาเรื่อยๆ ส่วนบริเวณที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากคลื่นความร้อน คือ ฟาร์มเลี้ยงในตอนเหนือซึ่งไม่ค่อยเกิดปรากฎการณ์อุณหภูมิอากาศสูงที่กินเวลานาน และบริเวณที่ระบบระบายอากาศไม่สามารถปรับอุณหภูมิได้ นอกจากนี้คลื่นความร้อนทำให้สัตว์ปีกกินอาหารน้อยลง ส่งผลให้น้ำหนักสัตว์ปีกมีชีวิตโดยเฉลี่ยลดลง โรงงานหลายแห่งซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่ได้รับผลกระทบรายงานว่ามีจำนวนสัตว์ปีกที่ล้มตายเมื่อมาถึงโรงงานเพิ่มขึ้น โรงงานจึงแก้ปัญหาด้วยการจัดการตารางเวลาการแปรรูปเพื่อลดจำนวนเวลาขนส่งสัตว์ปีก

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 47.10 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 46.71 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.83 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 42.52บาท ภาคะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 48.04 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 47.36 บาท และภาคใต้กิโลกรัมละ 53.07 บาท ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 16.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 39.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 40.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 2.46 และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 52.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 55.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 4.55

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดไข่ไก่สัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงนี้มีฝนตกชุกในหลายพื้นที่ ส่งผลต่อสุขภาพแม่ไก่ไข่ ทำให้ออกไข่น้อยลง แนวโน้มคาดว่าราคาจะสูงขึ้นเล็กน้อย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 300 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 295 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.69 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 309 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 278 บาท ภาคกลางร้อยฟอง 298 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 314 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 28.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 328 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 319 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 2.82

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 315 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 317 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.63 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 313 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 321 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 304 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 344 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 380 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 360 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 5.56

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 51.28 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 51.19 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.18 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 54.43 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 42.83 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 57.82 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 58.48 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 39.10 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 55.40 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 35.84 บาท ภาคกลางและภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 1 — 7 สิงหาคม 2554--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ