นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง ร่างยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร ว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนับเป็นปัญหาที่ทั่วโลกต่างยอมรับว่าหากไม่มีการดำเนินการใดๆ ในอนาคตอาจก่อให้เกิดมหันตภัยแก่โลกอย่างมิอาจคาดได้ ทุกประเทศจึงต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหา ปัจจุบันจะพบว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาทิ แผ่นดินไหว สึนามิ พายุ คลื่นความร้อน เป็นต้น สำหรับประเทศไทย ในปีที่ผ่านมา เกิดภาวะอากาศหนาวในฤดูร้อน ในภาคใต้เกิดฝนตกหนัก เกิดภาวะน้ำท่วม แผ่นดินถล่ม สร้างความเสียหายต่อชีวิต พืชผล ไร่นา และทรัพย์สินของประชาชนและเกษตรกร ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการเยียวยา ฟื้นฟูแก่ผู้ประสบภัยให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพและมีชีวิตโดยปกติสุข อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แม้จะแก้ไขไม่ได้ เพราะมนุษย์ไม่สามารถหยุดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แต่สามารถบรรเทาและลดความเสี่ยงจากปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ โดยการเตรียมการทั้งการป้องกัน แก้ไข เตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยธรรมชาติต่างๆที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลก และเป็นแหล่งรายได้ของเกษตรกร กว่า 6 ล้านครัวเรือน
รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดทำยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาการเกษตรในบริบทของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2551-2555 และแผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 11 เพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อม สร้างความตระหนักรู้ให้แก่เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องในภาคการเกษตร เตรียมความพร้อมในการรับมือ การปรับตัว เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ภาคเกษตร รวมทั้งร่วมพัฒนาภาคเกษตรไปสู่เกษตรสีเขียว เกษตรคาร์บอนต่ำ ตามที่ทิศทางที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 11
"การกำหนดยุทธศาสตร์ฯ ได้พิจารณาถึงประเด็นสำคัญที่จะกระทบต่อการพัฒนาการเกษตรในบริบทของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในหลายมิติ อาทิ การปรับตัวของภาคเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ความมั่นคงของอาหาร การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสู่การผลิตที่มีภูมิคุ้มกันต่อภูมิอากาศและการปล่อยคาร์บอน ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรในตลาดโลก ตลอดจนความเป็นหุ้นส่วนของประชาคมโลก เป็นต้น”นางสาวสุพัตรา กล่าว
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--