1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
ระบบสารสนเทศ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปัจจุบันแม้ประเทศไทยได้ก้าวสู่การเป็นผู้นำทางการประมง ของโลก โดยในปี 2554 มีผลผลิตสัตว์น้ำ รวม 3.1 ล้านตัน ทำรายได้เข้าประเทศมูลค่ากว่า 140,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ เป็นปัจจัยทำให้ศักยภาพในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำลดลง จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมแผนรองรับกับอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ระบบการบริหารสารสนเทศการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยจัดการความเสี่ยงจากอุปสรรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากระบบดังกล่าวสามารถแจ้งเตือนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อช่วยลดความเสี่ยงได้ โดยจะมีการประเมินสถานการณ์ ในแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันตามสภาพภูมิศาสตร์ สำหรับในประเทศไทยโครงการระบบการบริหารสารสนเทศการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เกิดจากการสนับสนุนขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงการจัดการและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยใช้ข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่ ที่ทันสมัย เน้นการใช้ระบบการจัดการข้อมูลด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในการพัฒนาในระดับพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน ในเบื้องต้นกรมประมงจะนำร่องดำเนินโครงการดังกล่าวใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดสงขลา และจะทยอยขยายผลไปในจังหวัดอื่นๆ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป
อธิบดีกรมประมงกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดประโยชน์แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อย่างแท้จริง กรมประมงจึงได้ดำเนินการจัดการสัมมนาเรื่อง “ระบบบริหารสารสนเทศการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทย” ขึ้น เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในการทบทวนระบบการบริหารสารสนเทศการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทย ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และกำหนดความจำเป็นในการพัฒนาระบบ รวมทั้งสนับสนุนการบริหารจัดการพื้นที่เลี้ยงสัตว์น้ำ โดยนำข้อเสนอแนะที่ได้จากการสัมมนามาประยุกต์ใช้เครื่องมือสมัยใหม่ในการบริหารจัดการพื้นที่เลี้ยงสัตว์น้ำให้เกิดประโยชน์มากที่สุดทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว จะช่วยพัฒนาระบบสารสนเทศการจัดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับท้องถิ่น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ สามารถนำข้อมูลและผลการศึกษาที่ได้ ไปใช้ประเมินและวางแผนการจัดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้อย่างเหมาะสมในอนาคต โดยยึดหลักการบริหารพื้นที่เลี้ยง สัตว์น้ำเชิงนิเวศ ซึ่งจะช่วยยกระดับการดำเนินการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้นและก้าวสู่การเป็นผู้นำทางการประมงในภูมิภาคต่อไป
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 มิ.ย.—3 ก.ค. 2554) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 888.03 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 407.84 ตัน สัตว์น้ำจืด 480.19 ตัน
ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 2.14 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 3.32 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 93.25 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 11.45 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 58.75 ตัน
การตลาด
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 40.40 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 40.80 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.40 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคา
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 67.54 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 65.93 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.61 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 134.09 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 134.10 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.01 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 133.00 บาท เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 131.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 2.00 บาท
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 37.47 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 47.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 9.53 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 70.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 90.67 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 86.67 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 4.00 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 170.00 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 178.57 บาท ของสัปดาห์ก่อน 8.57 บาท
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.22 สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 7.79 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.43 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 13 — 19 ส.ค. 2554) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 28.35 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 29.60 บาท ของสัปดาห์ก่อน 1.25 บาท
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 15 — 21 สิงหาคม 2554--