สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ
สัปดาห์นี้ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าจะผ่านเทศกาลสารทจีนแล้ว แต่ผลจากโรค PRRS (โรคทางระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ) และสภาพอากาศที่แปรปรวนยังทำให้สุกรที่ออกสู่ตลาดมีปริมาณไม่มากนัก แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัว
กรมปศุสัตว์ รายงานว่าได้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโรคดังกล่าว โดยการฟื้นฟูและปรับระบบการเลี้ยงสุกรในพื้นที่ที่เกิดโรคระบาด รวมทั้งให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ในการป้องกันและควบคุมโรคและได้จัดทำโครงการปรับระบบมาตรฐานการเลี้ยงสุกรรายย่อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคระบาด โดยมีการนำร่องจัดทำเป็นฟาร์มสาธิตที่ จ.หนองคาย เป็นจังหวัดแรก และกำลังดำเนินการจัดทำมาตรฐานการเลี้ยงสุกรรายย่อยที่เป็นมาตรฐานกลาง เพื่อจะได้ขยายโครงการไปในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป โดยเบื้องต้นมีการวางมาตรฐาน 2 เรื่องหลัก คือ องค์ประกอบของสถานที่เลี้ยงสุกรและการจัดการป้องกันโรค
ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ
สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 77.47 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 76.38 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.43 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 73.13 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 75.75 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 79.18 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 78.57 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 2,400 บาท (บวกลบ 80 บาท) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 80.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 91.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 90.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.10
ไก่เนื้อ
สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ
สถานการณ์ไก่เนื้อ สัปดาห์นี้ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีปริมาณไก่เนื้อและไก่ใหญ่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับความต้องการบริโภค แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัว
กรมปศุสัตว์ รายงานสถานการณ์การส่งออกเนื้อสัตว์ปีกสดแช่แข็งของไทยที่ไม่ได้ส่งออกไปยังตลาดหลักในญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (อียู) หลังตรวจพบการระบาดของเชื้อโรคไข้หวัดนกในประเทศ มากว่า 3 ปีแล้วที่ไม่พบโรคในไทย โดยพบครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 แต่เนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งของไทยยังคงไม่ได้ส่งออกไปยังประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่อย่างญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป โดยปัจจุบันอนุญาตให้นำเข้าได้เฉพาะเนื้อสัตว์ปีกปรุงสุกเท่านั้น แต่หลังจากกรมปศุสัตว์ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการดำเนินการขอยกเลิกคำสั่งระงับการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งจากไทย หลังอียูได้ส่งคณะผู้แทนเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลไปประกอบการพิจารณายกเลิกคำสั่งและมีแนวโน้มจะยกเลิกคำสั่งดังกล่าวในเร็วๆ นี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการส่งออกสัตว์ปีกสดแช่แข็งกลับไปยังอียูอีกครั้ง กรมปศุสัตว์จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานเตรียมความพร้อมเพื่อการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกสด เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขของฟาร์มสัตว์ปีกที่จะได้รับการคัดเลือกให้ส่งออกไก่สดแช่แข็ง รวมทั้งให้คำแนะนำแก้ไขปรับปรุงฟาร์มที่เกี่ยวข้องให้อยู่ภายใต้มาตรฐาน มีแหล่งผลิตจากฟาร์มที่ปลอดโรคระบาดและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยสินค้าสัตว์ปีกของไทยจะเป็นสินค้าและอาหารที่มีความปลอดภัยอย่างเต็มที่
ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ
ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 46.72 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 46.71 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.02 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 40.00บาท ภาคะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 48.16 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 47.81 บาท และภาคใต้กิโลกรัมละ 53.52 บาท ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 15.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 40.50 บาทสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 39.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 2.53 และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 52.50 ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
ไข่ไก่
สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ
สถานการณ์ตลาดไข่ไก่ ในสัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ทรงตัวจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเพิ่งผ่านเทศกาลสารทจีน ทำให้ความต้องการการบริโภคไข่ไก่ไม่มากนัก ซึ่งใกล้เคียงผลผลิตที่ออกสู่ตลาด แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัว
ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ
ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 304 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 317 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 278 บาท ภาคกลางร้อยฟอง 301 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 324 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 28.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 328 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
ไข่เป็ด
ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ
ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 321 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 319 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.63 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 313 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 326 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 316 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 341 บาท
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 380 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา
โคเนื้อ
ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ
ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 52.10 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 51.57 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.03 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 54.43 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 43.71 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 59.68 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 58.76 บาท
กระบือ
ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ
ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 39.26 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 39.10 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.41 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 55.40 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 36.04 บาท ภาคกลางและภาคใต้ไม่มีรายงานราคา
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 15 — 21 สิงหาคม 2554--