สศก. เผย การค้าสินค้าเกษตรครึ่งปีแรก ไทยได้เปรียบดุลการค้ากว่า 7 หมื่น 5 พันล้านบาท

ข่าวทั่วไป Friday August 26, 2011 10:38 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย การค้าสินค้าเกษตรครึ่งปีแรก ไทยได้เปรียบดุลการค้ากว่า 7 หมื่น 5 พันล้านบาท ซึ่งหากคิดรวมสินค้ายางพารา จะทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าสูงถึง 1 แสน 5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 6 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำตาล ยางพารา ข้าว ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันพืช/สัตว์ ปลาและสัตว์น้ำ

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ไทยได้ดำเนินการเปิดตลาดสินค้าเกษตรภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และเขตการค้าเสรีอื่นๆ มาระยะหนึ่งแล้ว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า การค้าสินค้าเกษตรไทยยังคงรักษาความได้เปรียบดุลการค้าไว้ได้ในเกือบทุกคู่เจรจา โดยการค้าสินค้าเกษตรภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่ได้ลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่ปี 2553 แล้วนั้น ปรากฏว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 การค้าสินค้าเกษตร (ไม่รวมยางพารา) ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 75,824 ล้านบาท และหากคิดรวมสินค้ายางพาราเข้าไว้ด้วยจะทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าสูงถึง 105,369 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปี 2553 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ คือ น้ำตาล ยางพารา ข้าว และสินค้านำเข้าสำคัญ คือ น้ำมันพืช/สัตว์ ปลาและสัตว์น้ำ

สำหรับความตกลง FTA อื่นๆ ของไทยที่มีผลบังคับใช้แล้ว พบว่า สถานการณ์การค้าในช่วงครึ่งปีแรก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรเกือบทุกคู่เจรจา โดยไทยได้เปรียบดุลการค้ากับญี่ปุ่น 77,667 ล้านบาท จีน 19,478 ล้านบาท เกาหลี 8,238ล้านบาท และ ออสเตรเลีย 2,676 ล้านบาท ตามลำดับ แต่สำหรับนิวซีแลนด์ ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 4,796 ล้านบาท ซึ่งเป็นลักษณะเช่นเดียวกับก่อนมี FTA เนื่องจากต้องพึ่งพาการนำเข้านมผงและอาหารทารก นอกจากนี้หลังจากการเปิด Early Harvest สินค้าเกษตร 11 รายการกับอินเดียนั้น ไทยเป็นฝ่ายขาดดุล 82 ล้านบาท (ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย) เนื่องจากนำเข้าองุ่นสดเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากการติดตามการค้าในภาพรวมแล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบระดับพื้นที่ โดยได้ตั้งคณะทำงานติดตามและเฝ้าระวังการนำเข้าสินค้าเกษตรระดับจังหวัด (Mobile Units) กระจายในทุกภาค ซึ่งสถานการณ์การนำเข้า-ส่งออกในระดับพื้นที่ยังอยู่ในเกณฑ์ภาวะปกติ และยังคงมีการลักลอบนำเข้า-ส่งออกในบางจังหวัด โดยสินค้าที่มีการลักลอบ เช่น ยางพารา ปลาสด น้ำมันปาล์ม น้ำตาล เป็นต้น แต่มีมูลค่าไม่มากนัก นายอภิชาต กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ