สศก. ร่วมประชุม “2011 APEC Food Security Forum — Food Emergency Response Mechanism”

ข่าวทั่วไป Friday August 26, 2011 10:41 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมประชุม “2011 APEC Food Security Forum — Food Emergency Response Mechanism” ณ ไทเป ไต้หวัน เผย ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการที่จะจัดตั้งกลไกการสำรองอาหารสำหรับสมาชิกเอเปคเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน โดยมอบมอบหมายให้จีนไทเป ศึกษารายละเอียด และผลกระทบก่อนนำเสนอใน Agricultural Technical Cooperation Working Group และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคต่อไป

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการร่วมประชุม “2011 APEC Food Security Forum — Food Emergency Response Mechanism” ระหว่างวันที่ 9-11 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยเอเปคและจีนไทเป (ไต้หวัน) ณ ไทเป โดยเข้าร่วมเป็น Keynote Speaker ในนามของประเทศไทยภายใต้หัวข้อการดำเนินงานปัจจุบันของโครงการสำรองข้าวในกรอบอาเซียนบวกสาม (Current Operations of ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR) ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรมีบทบาทโดยตรงในการดำเนินโครงการ APTERR โดยในการนำเสนอ Framework of the APEC Food Emergency Response Mechanism (AFERM) มีสาระสำคัญ คือ โครงการจัดตั้งระบบสำรองอาหารในเอเปค เพื่อช่วยเหลือสมาชิกด้านอาหารในกรณีฉุกเฉิน โดยกำหนดสำรองอาหารหลักของสมาชิกเอเปค เช่น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ในลักษณะ Earmarked เพื่อให้ความช่วยเหลือสมาชิกเพื่อมนุษยธรรมในภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากสมาชิกเอเปคส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลถึงความ ไม่มั่นคงอาหาร ดังนั้น เพื่อหาแนวทางรับมือกับเรื่องดังกล่าว จีนไทเปจึงได้เสนอ รูปแบบการบริหารจะมีการจัดตั้ง Steering Committee ตัดสินใจในการช่วยเหลือ โดยมีสำนักงานเลขาธิการ AFERM ทำหน้าที่ประสานงานการจัดส่งอาหาร รวมทั้งดูแลระบบข้อมูลสารสนเทศด้านอาหารของเอเปค โดยขอให้สมาชิกเอเปคสนับสนุนใน 3 เรื่อง คือ 1) การจัดตั้ง AFERM โดยใช้ขบวนการ Parthfinder ของเอเปค 2)เข้าร่วมใน AFERM และแต่งตั้งผู้แทนเข้าร่วมใน Steering Committee และ 3) ยอมรับที่จะกำหนดการสำรองอาหารในลักษณะ Earmarked สำหรับ AFERM

เลขาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการประชุม ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการที่จะจัดตั้งกลไกการสำรองอาหารสำหรับสมาชิกเอเปคที่สมัครใจเข้าร่วมกลไกดังกล่าวในอนาคตเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน อย่างไรก็ดี เนื่องจากหลายเขตเศรษฐกิจเห็นว่า กรอบการดำเนินงานของ AFERM ที่นำเสนอยังขาดข้อมูลการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม การประมาณการด้านการเงิน (ต้นทุนและผลที่ได้รับ) และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมจึงมีมติมอบหมายให้จีนไทเปจัดทำการศึกษารายละเอียดวิธีดำเนินการ และผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบก่อนนำเสนอใน Agricultural Technical Cooperation Working Group และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ