เกษตรฯ เดินหน้าเร่งแผนพัฒนาการเกษตร ฉบับที่ 11 ชู 3 ยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ

ข่าวทั่วไป Friday August 26, 2011 10:46 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

กระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จัดสัมมนาสร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์แผนพัฒนาการเกษตรให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทราบแบบเจาะลึกครบประเด็น เพื่อเสนอทิศทางการพัฒนา ภาคเกษตรในระยะ 5 ปีข้างหน้า พร้อมชู 3 ยุทธศาสตร์ ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องแผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11

นายเฉลิมพร พิรุณสาร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง แผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 — 2559) ซึ่งจัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ว่า แผนพัฒนาการเกษตร นับเป็นแผนหลักของภาคเกษตรสำหรับใช้เป็นกรอบ การพัฒนาการเกษตรของประเทศในระยะ 5 ปี ซึ่งภาพรวมของแผนและยุทธศาสตร์จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแผนพัฒนาระดับชาติ เพื่อให้เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน สถาบันเกษตรกรและเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินงานหลักด้านการเกษตร มีความมุ่งมั่นให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความมั่นคงด้านอาหาร และเป็นฐานสร้างรายได้ให้แผ่นดินเน้น “คน” โดยเฉพาะเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา พร้อมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการขับเคลื่อน ทั้งการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของเกษตรกร เพื่อให้มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้และมีภูมิคุ้มกัน อีกทั้งยังเน้นการดำเนินงานในเชิงรุกควบคู่ไปกับการปรับตัวและการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลก การกระจายรายได้ที่ทั่วถึงและเป็นธรรม มีความสามารถในการผลิตและการตลาด ทำให้เกิดความมั่นคงในอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกร พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหาร ให้มีความสามารถในการแข่งขัน ประชาชนมีความมั่นคงด้านอาหาร มีผลผลิตเพียงพอกับความต้องการด้านอาหารและพลังงาน รวมทั้งสร้างและพัฒนาการใช้ทรัพยากรการเกษตรและโครงสร้างพื้นฐานการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ฟื้นฟูทรัพยากรการเกษตรให้มีความเหมาะสมต่อการผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืน และเตรียมความพร้อมในการรองรับและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือทางเหลี่ยมเศรษฐกิจต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC : ASEAN Economic Community) ตลอดจนสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่น และเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อม สำหรับการพัฒนาการเกษตรในยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ทุกๆ ภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกร จำเป็นต้องมองกรอบเป็นกระบวนการ ตลอดห่วงโซ่อุปทานจนถึงผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศให้ชัดเจน และบูรณาการร่วมกันทั้งในสาขาเกษตรและต่างสาขา

ด้านนายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 จะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2554 และจะเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ในเดือนตุลาคม 2554 ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลัก ในการดำเนินงานกำหนดทิศทางการพิจารณาระดับชาติในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยในส่วนของการดำเนินงานด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำแผนพัฒนาการเกษตรของประเทศ เป็นการดำเนินการภายใต้คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ที่เป็นไปตามบทบัญญัติ ของพระราชบัญญัติเศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. 2522 ให้มีการกำหนดแผนพัฒนาการเกษตรให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดังกล่าว เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทาง และยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรของประเทศต่อไป อย่างไรก็ตาม การจัดทำแผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11

(พ.ศ. 2555 - 2559) ได้ดำเนินงานควบคู่ไปกับแผนระดับชาติ โดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำแผนอย่างเป็นขั้นตอน

ทั้งนี้ การจัดทำแผนฉบับนี้ ได้ประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากร นโยบายการเกษตร ตลอดจนวิเคราะห์สภาพแวดล้อม (SWOT Analysis) รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงและภูมิคุ้มกัน นำมาประกอบการกำหนดวิสัยทัศน์ ได้ว่า “เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความมั่นคงด้านอาหาร เป็นฐานสร้างรายได้ให้แผ่นดิน” และได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรที่สำคัญช่วงระยะเวลา 5 ปี จำนวน 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาขีดความสามารถในการผลิต การจัดการสินค้าเกษตรและความมั่นคงด้านอาหาร และยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาทรัพยากรการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ สมดุล และยั่งยืน

นอกจากนี้ ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติให้มีกลไกในการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ต่างๆ ในแผนพัฒนาการเกษตร ลงสู่แผนการบริหารราชการแผ่นดิน แผนปฏิบัติราชการ ฯลฯ โดยพิจารณา ความสอดคล้องของยุทธศาสตร์พัฒนาสินค้า (Commodity Based) และยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่ (Area Based) รวมทั้งกำหนดแผนงาน ที่สำคัญเป็นกลไกรองรับให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่น ชุมชน และเกษตรกร อย่างชัดเจน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ