ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Wednesday August 31, 2011 11:56 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดสุกร สัปดาห์นี้ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้ทรงตัวจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณสุกรออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับกรมการค้าภายในมีการควบคุมราคาสุกรทั้งระบบ ทั้งสุกรมีชีวิต สุกรชำแหละ และราคาขายปลีกเนื้อสุกร ทำให้ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้เริ่มทรงตัว แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 77.49 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 77.47 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.03 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 73.16 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 75.67 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 79.19 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 78.78 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 2,400 บาท (บวกลบ 80 บาท) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 79.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 80.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.24 และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 90.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 91.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.09

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ไก่เนื้อ สัปดาห์นี้ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีปริมาณไก่เนื้อและไก่ใหญ่ออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับมีฝนตกในบางภาคและ น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย

สถานการณ์ข่าวต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 เจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ได้รายงานต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ(OIE) เรื่องการระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรงสูง (HPAI) H5N2ในฟาร์มเลี้ยงนกกระจอกเทศอีก 9 แห่ง ซึ่งฟาร์มทั้งหมดตั้งอยู่ในจังหวัด Western Cape รายงานระบุว่า การระบาดของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรงสูงเริ่มเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ถึง 6 กรกฎาคม 2554 มีนกกระจอกเทศทั้งหมดจำนวน 4,238 ตัวได้รับผลกระทบ โดยมีนกกระจอกเทศจำนวน 1,706 แสดงอาการของโรค และมีนกกระจอกเทศ 14 ตัว ถูกเผาทำลาย ส่วนอีก 1,186 ตัว ถูกเชือด

ด้านสถาบัน LEI และ Central Veterinary Institute ของศูนย์วิจัยและมหาวิทยาลัย Wageningen ในเนเธอร์แลนด์ ออกผลวิจัยเกี่ยวกับการทำลายและฉีดวัคซีนในสัตว์ปีกเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนกในรัศมี 1-3 กิโลเมตรจากจุดที่ระบาด ได้ข้อสรุปว่าการทำลายสัตว์ปีกสามารถป้องกันไข้หวัดนกได้ดีกว่าการฉีดวัคซีน โดยการทำลายสัตว์ในฟาร์มที่มีสัตว์ปีกติดเชื้อเป็นไข้หวัดนกจะมีระยะเวลาระบาดที่สั้นกว่า ขณะที่การฉีดวัคซีนสัตว์ปีกถึงแม้ว่าจะช่วยลดจำนวนฟาร์มสัตว์ปีกที่แพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกได้จริงและต้นทุนต่ำกว่าแต่มีระยะเวลาระบาดนานกว่า อย่างไรก็ตามยุทธศาสตร์ของสหภาพยุโรปที่ทำลายสัตว์ปีกในฟาร์มติดเชื้ออาจไม่เพียงพอต่อการควบคุมการระบาดในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของสัตว์ปีกน้อย ทั้งนี้สาธารณชนยอมรับการป้องกันด้วยการทำลายด้วยการทำลายน้อยลงและเรียกร้องมาตรการป้องกันแบบอื่นเช่นการฉีดวัคซีน

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 46.64 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 46.72 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.17 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 40.00บาท ภาคะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 48.17 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 47.53 บาท และภาคใต้กิโลกรัมละ 53.52 บาท ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 15.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 42.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 40.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 4.94 และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 54.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 52.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 3.81

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน มีฝนตกในบางภาคและน้ำท่วมบางพื้นที่ ส่งผลให้แม่ไก่ไข่ออกไข่น้อยลง ในขณะที่ความต้องการบริโภคยังมีอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือสูงขึ้นเล็กน้อย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 305 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 304 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.33 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 317 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 278 บาท ภาคกลางร้อยฟอง 300 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 328 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 28.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 328 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 323 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 321 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.62 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 313 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 329 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 318 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 347 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 400 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 380 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 5.26

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 52.32 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 52.10 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.42 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 54.43 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 44.05 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 60.08 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 58.76 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 39.41 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 39.26 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.38 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 55.40 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 36.22 บาท ภาคกลางและภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 22 — 28 สิงหาคม 2554--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ