สศก. เดินสายจัดประชาพิจารณ์ร่างแผนยุทธศาสตร์รองรับภาวะโลกร้อน ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ หวังปรับร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ให้มีความสมบูรณ์รอบด้าน หลังการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศส่งผลกระทบการผลิตสินค้าเกษตรในวงกว้าง พร้อมชู 5 ยุทธศาสตร์รองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอาการภาคเกษตรแล้ว
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในปี 2553 และ 2554 ภาคเกษตรประสบปัญหาภัยพิบัติรุนแรงหลายด้าน ทั้งภัยแล้ง ปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว เพลี้ยแป้งสีชมพูในมันสำปะหลัง น้ำท่วมและดินถล่ม สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรอย่างมาก และถ้ามองย้อนกลับไปในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยประสบปัญหาภัยธรรมชาติทุกปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายในส่วนของน้ำท่วมรวม 115,768 ล้านบาท ส่วนภัยแล้งมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 13,314 ล้านบาท ดังนั้น ภาวะโลกร้อนจึงถือเป็นภัยคุกคามที่สำคัญของภาคเกษตร ทั้งในฐานะเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันก็เป็นภาคที่ทำให้เกิดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วย จึงจำเป็นต้องมีการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร สำหรับเตรียมการพัฒนาภาคเกษตรให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และจากการที่แผนบรรเทาภาวะโลกร้อนด้านการเกษตร 2551 — 2554 กำลังจะสิ้นสุดลงในปี 2554 นี้ คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ การจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตรสำหรับเตรียมการพัฒนาภาคเกษตรภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เพื่อให้ร่างแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ ส่วนเสีย กับการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งต้องมีความเข้าใจทั้งในแง่ที่ภาคเกษตรมีส่วนร่วม ที่เป็นทั้งสาเหตุทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเป็นภาคที่สามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อนได้
ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติตามแผนฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คณะอนุกรรมการฯ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะฝ่ายฝ่ายเลขานุการ จัดประชาพิจารณ์ร่างแผนยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และระดมความเห็น เพื่อนำข้อคิดเห็นจากมุมมองที่แตกต่างกัน ของผู้เกี่ยวข้องมาปรับร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ให้มีความสมบูรณ์รอบด้าน เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น โดยขณะนี้ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์การรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอาการภาคเกษตรแล้ว แบ่งเป็น 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร ยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการองค์ความรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการเกษตร ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาการดำเนินงานและกรอบความร่วมมือกับต่างประเทศ ทั้งนี้ ได้จัดให้มีการทำประชาพิจารณ์ร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวทั่วประเทศรวม 5 ครั้ง ใน 4 ภาคๆ ละ 1 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี และ สงขลา เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่มีผลต่อภาคเกษตรให้เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนได้ ส่วนเสีย ตลอดจนเป็นการระดมความเห็น เพื่อนำข้อคิดเห็นจากมุมมองที่แตกต่างกันของผู้เกี่ยวข้องมาปรับร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ให้มีความสมบูรณ์รอบด้านต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--