1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
การตลาด
1.1 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 (รอบ 2)
มติ ครม. เมื่อวันที่ 15 ก.พ.54 และ 8 มี.ค. 54 เห็นชอบการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 รอบที่ 2 ดังนี้
- การขึ้นทะเบียนเกษตรกร 4 ม.ค. — 31 พ.ค. 54 ภาคใต้ 1 เม.ย. - 15 ก.ค. 54 - การประชาคม 20 ม.ค. — 15 มิ.ย. 54 ภาคใต้ 2 พ.ค. — 31 ก.ค. 54 - ออกใบรับรอง 20 ม.ค. — 30 มิ.ย. 54 ภาคใต้ 2 พ.ค. — 15 ส.ค. 54 - ทำสัญญาประกันรายได้ 20 ม.ค.53 — 31 ก.ค. 54 ภาคใต้ 2 พ.ค. 53 — 15 ก.ย. 54 - ระยะเวลาใช้สิทธิ 1 ก.พ. - 15 ก.ย. 54 ภาคใต้ 1 มิ.ย. 31 ต.ค. 54
- ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
- ข้าวเปลือกเจ้าตันละ ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 30 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกปทุมธานี1 ตันละ 11,500 บาท ไม่เกิน 30 ตัน / ครัวเรือน - ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 30 ตัน / ครัวเรือน
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ราคาข้าวขาวที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์
ที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงนี้เกษตรกรเกี่ยวข้าวหนีน้ำ ข้าวมีคุณภาพต่ำ ประกอบกับข่าวอินเดียอนุญาตให้ส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติเพิ่มอีก 2 ล้านตัน และข้าวสาลี 2 ล้านตัน รวมทั้งข้าวนาปี ปี 2554/55 ที่ออกสู่ตลาดในช่วงนี้ ยังไม่มีมาตรการทางด้านตลาดรองรับ เนื่องจากโครงการรับจำนำจะเริ่มในวันที่ 7 ต.ค 54 ส่งผลให้ราคาลดลง
ส่วนราคาส่งออกข้าวสาร เอฟ.โอ.บี. นั้น ราคาทรงตัวเนื่องจากขณะนี้มีคำสั่งซื้อเข้ามาน้อย เพราะผู้นำเข้ายังรอการสั่งซื้อข้าวไทย มีบางรายหันไปซื้อข้าวเวียดนาม แต่ก็ยังกลัวเวียดนามไม่มีข้าวพอส่งมอบ เนื่องจากในช่วงนี้ข้าวของเวียดนามมีน้อยเพราะจะเก็บเกี่ยวอีกครั้งช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2555
การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 13 กันยายน 2554 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 8.565 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 5.615 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 52.54 (ที่มา : กรมการค้าภายใน)
1.2 ราคา
ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,262 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,911 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.72
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,803 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,148 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 3.40
ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,752 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,900 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.99
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ความชื้น 14-15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,803 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,148 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 3.40
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,950 บาท ราคาลดลงจากตันละ 16,790 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 5.00
ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,106 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,097 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่มูลค่าในรูปเงินบาทสูงขึ้นตันละ 230 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 914 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,352 บาท/ตัน)ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่มูลค่าในรูปเงินบาทสูงขึ้นตันละ 190 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 613 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,344 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่มูลค่าในรูปเงินบาทสูงขึ้นตันละ 127 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 554 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,579 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่มูลค่าในรูปเงินบาทสูงขึ้นตันละ 116 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5%ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 644 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,272 บาท/ตัน)ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่มูลค่าในรูปเงินบาทสูงขึ้นตันละ 134 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 29.9252
1) สถานการณ์ข้าวโลก
1.1) การผลิต
ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนเบื้องต้นว่าผลผลิตข้าวโลกปี 2554/55 ประจำเดือนกันยายน 2554 ว่าจะมี 458.377 ล้านตันข้าวสาร (686.9 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 451.185 ล้านตันข้าวสาร (676.7 ล้านตันข้าวเปลือก) ของปี 2553/54 ร้อยละ 1.59 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตของประเทศผู้บริโภคและผู้ส่งออกที่สำคัญของโลก เช่น บังคลาเทศ พม่า จีน อิยิปต์ อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และไทย
1.2) การค้าข้าวโลก
บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนบัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2554/55
ณ เดือนกันยายน 2554 ว่าผลผลิต ปี 2554/55 จะมี 458.377 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.59 การใช้ในประเทศจะมี 456.018 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 1.58 การส่งออก/นำเข้าจะมี 31.805 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.18 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 98.652 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.45 โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้นได้แก่ ออสเตรเลีย อิยิปต์ อียู และปากีสถาน ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ กายานา ญี่ปุ่น อุรุกวัย เวียดนาม สหรัฐฯ และไทย
สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บราซิล แคนาดา โกตดิวัวร์ ฮ่องกง อิหร่าน อิรัก เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ เยเมน และสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บังคลาเทศ จีน คิวบา อียู อินโดนีเซีย โมแซมบิค และแอฟริกาใต้
ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน และอินเดีย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา
2) สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ส่งออกและผู้นำเข้า
2.1) ญี่ปุ่น : ประมูลนำเข้าข้าวแบบ SBS
ญี่ปุ่นกำหนดให้มีการประมูลนำเข้าข้าวแบบ Simultaneous Buying and Selling Tender System (SBS) ครั้งที่ 1 ประจำปี 2554 ตามข้อตกลงของ WTO ในวันที่ 21 กันยายน 2554 จำนวน 30,000 ตัน เป็นข้าวสารหรือข้าวกล้อง 25,000 ตัน และข้าวหัก 5,000 ตัน
2.2) เวียดนาม : ยุทธศาสตร์ข้าวเวียดนาม ปี 2555-2558
เวียดนามตั้งเป้าส่งออก 6 ล้านตันต่อปี และได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาด้านการผลิตข้าว เพื่อให้ข้าวที่ส่งออกมีประสิทธิภาพและคุณภาพดี จำนวน 5 มาตรการ ดังนี้
1) ปรับปรุงคุณภาพข้าว โดยการคัดเลือกสายพันธุ์และกำหนดเขตปลูกข้าวคุณภาพสูง และสร้างเอกลักษณ์ตราสินค้าข้าว
2) ผลิตและกระจายข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวให้มีความหลากหลาย โดยเฉพาะให้มีการขยายการส่งออกข้าวหอมให้ตรงความต้องการของแต่ละตลาด
3) เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดข้าว โดยการขยายตลาดใหม่ และรักษาตลาดเก่า
4) เชื่อมโยงการผลิต การตลาด และการบริโภค เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวให้แก่เกษตรกร
5) ประกันประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านการส่งออกข้าว และต่อต้านการทุ่มตลาด
ที่มา : Riceonline.com
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 12 - 18 กันยายน 2554--