สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำรวจแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในกิจการเกษตรที่สำคัญในจังหวัดสงขลา พบ ประชากรวัยสูงอายุมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน เกษตรกรและผู้ประกอบการกิจการเกษตรจึงต้องจ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อให้สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวจากประเทศมาเลเซีย อินเดีย และจีน ตามลำดับ ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายส่วนใหญ่เป็นพม่า กัมพูชา และลาว
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการดำเนินการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในการลงพื้นที่สำรวจกลุ่มผู้ประกอบการเกษตร เกษตรอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน หอการค้าจังหวัด สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จัดหางานจังหวัด และปกครองจังหวัด เพื่อศึกษาแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในกิจการเกษตรที่สำคัญของจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวมารายงานตัวจดทะเบียนมากที่สุดใน 10 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ภูเก็ต ตาก ระนอง สมุทรปราการ ชลบุรี นครปฐม และสงขลา โดยเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการขยายตัวของผลผลิต มูลค่าและราคาของยางพารา ปาล์มน้ำมัน ซึ่งแม้ว่าสาขาประมงจะมีมูลค่าการผลิตและจำนวนการจับสัตว์น้ำลดลงไปก็ตาม ในขณะที่สัดส่วนประชากรวัยสูงอายุของจังหวัดสงขลากลับมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีจำนวนสูงถึงร้อยละ 11 ขณะที่ประชากรวัยทำงานมีสัดส่วนที่คงที่ประมาณร้อยละ 65
ดังนั้น การใช้แรงงานต่างด้าวในกิจการเกษตรที่สำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัญชาติพม่าเข้ามาทำงานผ่านทางด่านเกาะสองจังหวัดระนอง โดยมีการใช้แรงงานต่างด้าวมากในกิจการประมง สวนยางพารา โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งการใช้แรงงานต่างด้าวในกิจการประมงมีแนวโน้มลดลงเพราะค่าใช้จ่ายในการทำประมงทะเลสูงขึ้นและสัตว์น้ำหรือทรัพยากรทางทะเลมีแนวโน้มลดลง แต่ในสวนยางพาราและกิจการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารามีแนวโน้มที่จะจ้างแรงงานต่างด้าวแบบถาวรเพิ่มขึ้นเนื่องจากยางพารามีราคาดีและมีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับความต้องการผลิตภัณฑ์จากยางพารามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการแรงงานและค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น ทำให้แรงงานต่างด้าวมีรายได้ดีไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน แรงงานต่างด้าวจากพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ทำงานในกิจการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราจะมีพาสปอร์ตหรือผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วต่ออายุพาสปอร์ตสองปีต่อครั้ง ส่วนท่าเรือประมงสงขลา จะมีแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาเข้ามาทำงานในแพปลาโดยมีพาสปอร์ตถูกต้อง ซึ่งแรงงานต่างด้าวจะเข้ามาทำงานแบบถาวรและมีครอบครัวมาด้วย
สำหรับข้อเสนอแนะ และแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น ผลสำรวจความคิดเห็น พบว่า ควรมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานแบบถาวรโดยเฉพาะในกิจการเกษตรที่มีการขยายตัวของผลผลิตและการจ้างงานที่มีความต้องการแรงงานและการจ้างแบบต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทย และเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งสร้างความมั่นคงและคุณภาพชีวิตให้แก่แรงงานต่างด้าวและครอบครัว เช่น การขยายระยะเวลาการจดทะเบียนใบอนุญาตทำงาน การขยายระยะเวลาการต่ออายุพาสปอร์ต การพิสูจน์สัญชาติครอบครัวแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะบุตร รวมทั้งการปรับปรุงกฏหมายเกี่ยวกับคนต่างด้าวเพื่อให้ได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามสิทธิมนุษยชนมากขึ้น
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--