สศก. เปิดเสวนาใหญ่ระดมแนวทางบริหารจัดการสินค้าข้าวของไทยในกลุ่มประเทศสมาชิก GMS

ข่าวทั่วไป Friday September 30, 2011 13:47 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จัดระดมข้อคิดเห็นในงานเสวนาแนวทางการบริหารจัดการสินค้าข้าวของไทยในกลุ่มประเทศสมาชิก GMS เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการสินค้าข้าวไทยเชื่อมโยงกับประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อันจะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านความร่วมมือข้าวระหว่างประเทศต่อไป

นางดวงหทัย ด่านวิวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการเสวนา เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการสินค้าข้าวของไทยเชื่อมโยงการผลิต การค้า สินค้าข้าวในกลุ่มประเทศสมาชิก GMS ณ โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี เพื่อระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการข้าวของไทยเชื่อมโยงกลุ่มประเทศสมาชิกในกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง GMS (Greater Mekong Subregion) ซึ่งมี 6 ประเทศสมาชิก ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม จีน และไทย โดยการเสวนาในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจาก สศก. ได้ดำเนินโครงการศึกษาความต้องการใช้และการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนสนับสนุนความร่วมมือด้านเกษตร ระยะที่ 2 ปี 2554-2558 ในกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ซึ่งมีแผนจะศึกษาร่วมกันในอนาคต เพราะประเทศสมาชิกในกลุ่ม GMS ล้วนเป็นประเทศที่มีพื้นฐานทางด้านกสิกรรม ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และอนุภูมิภาคนี้จะกลายเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก

การศึกษาครั้งนี้ ได้เลือกสินค้าข้าว เนื่องจากเป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญต่อคนไทยทั้งประเทศ และปัจจุบัน ประเทศไทยมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวนา 5.9 ล้านครัวเรือน พื้นที่ปลูกข้าวนาปีและนาปรังรวมกันปีละประมาณ 72 ล้านไร่ ผลผลิตปีละประมาณ 30 กว่าล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศและเหลือส่งออกต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก สร้างรายได้และนำเงินตราเข้าประเทศปีละไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท แต่จากสถานการณ์การผลิตและการค้าข้าวโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ข้าวไทยเริ่มประสบปัญหาการแข่งขันในตลาดโลกกับประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดีย ปากีสถาน จีน เวียดนาม และการแข่งขันมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวคุณภาพทั่วไปที่ประเทศคู่แข่งส่งออกในราคาที่ต่ำกว่าข้าวไทยมาก นอกจากนี้ประเทศคู่แข่งได้เริ่มหันมาผลิตข้าวคุณภาพดีเพิ่มมากขึ้นเพื่อแข่งขันกับข้าวไทย ปัญหาการลักลอบนำเข้าข้าว การปลอมปนข้าวไทย โดยการดำเนินการที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้รวบรวมข้อมูลอุปสงค์ อุปทานสินค้าข้าวในแหล่งพื้นที่จังหวัดปลูกข้าวสำคัญของประเทศไทยที่มีชายแดนเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้มีการสำรวจข้อมูลในพื้นที่จังหวัดหนองคาย อุดรธานี สระแก้ว สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงชายแดนไทยกับสปป.ลาว และกัมพูชา อันเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญ ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งได้จัดประชุมหาร่วมกันกับเจ้าหน้าที่เกษตรประเทศสมาชิก GMS ได้แก่ เวียดนาม จีน สปป.ลาว และกัมพูชา และศึกษาดูงานสำรวจ สัมภาษณ์เกษตรกร และผู้ประกอบการค้าสินค้าเกษตรในอุปสงค์ อุปทาน และตลาดสินค้าข้าวที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยกับประเทศสมาชิกในกลุ่ม GMS เมื่อปี 2553 มีมูลค่า 2.01 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับปี 2552 โดยจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับแรกของไทยในกลุ่มสมาชิก GMS รองลงมาได้แก่ เวียดนาม พม่า ลาว และกัมพูชา ในส่วนของสถิติการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรนั้น มูลค่าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยกับประเทศในกลุ่มสมาชิก GMS เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากเดิมเมื่อปี 2552 มีมูลค่า 0.16 ล้านล้านบาท เป็น 0.21 ล้านล้านบาทในปี 2553 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ยังเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกและให้ความสำคัญในเวทีกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ดังนั้น ประเทศสมาชิกกลุ่ม GMS ควรศึกษาข้อมูลปริมาณความต้องการใช้และการผลิตของสินค้าเกษตรที่สำคัญ ทั้งพืชอาหารและมิใช่พืชอาหาร เพื่อกำหนดท่าทีในกรอบความร่วมมือด้านการเกษตร ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ และได้มอบหมายให้ สศก. ทำการศึกษา เสนอแนะนโยบายที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันในอนุภูมิภาค ดังนั้น การเสวนาครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางที่เป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการสินค้าข้าวในประเทศไทยเชื่อมโยงกับประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อันจะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านความร่วมมือข้าวระหว่างประเทศต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ