1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
1) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2554/55
1.1) มติ กขช. เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554 และมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 54 รับทราบกรอบ ชนิด ราคา ปริมาณ ระยะเวลา วิธีการ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข การรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ดังนี้
1.2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
(1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ (42 กรัม) ตันละ 20,000 บาท (2) ข้าวเปลือกหอมจังหวัด (40 กรัม) ตันละ 18,000 บาท
(ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 23 จังหวัด)
(3) ข้าวเปลือกปทุมธานี (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท
(4) ข้าวเปลือกเหนียว :-
ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว ตันละ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น ตันละ 15,000 บาท
(5) ข้าวเปลือกเจ้า :-
ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท
ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้างต้นให้ปรับเพิ่ม-ลดตามจำนวนกรัม ในอัตรากรัมละ 200 บาท
1.3) เป้าหมายการรับจำนำ ไม่จำกัดปริมาณข้าวเปลือกที่รับจำนำทั้งโครงการ ส่วนปริมาณข้าวเปลือกที่เกษตรกรแต่ละรายจะจำนำได้ไม่จำกัดจำนวนเช่นกัน โดยต้องเป็นข้าวเปลือกที่เกษตรกรเพาะปลูกเองในปีการผลิต 2554/55 และต้องมีหนังสือรับรองเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งผ่านการทำประชาคม และเกษตรกรลงชื่อรับรองตัวเอง พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร และปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงชื่อรับรองด้วย
1.4) ระยะเวลาดำเนินการ
- ระยะเวลาดำเนินการรับจำนำ 7 ตุลาคม 2554 — 29 กุมภาพันธ์ 2555
- ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ
- ระยะเวลาโครงการ 7 ตุลาคม 2554 — 30 กันยายน 2555
2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 (รอบ 2) มติ ครม. เมื่อวันที่ 15 ก.พ.54 และ 8 มี.ค. 54 เห็นชอบการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 รอบที่ 2 ดังนี้
- การขึ้นทะเบียนเกษตรกร 4 ม.ค. — 31 พ.ค. 54 ภาคใต้ 1 เม.ย. — 15 ก.ค. 54
- การประชาคม 20 ม.ค. — 15 มิ.ย. 54 ภาคใต้ 2 พ.ค. — 31 ก.ค. 54 - ออกใบรับรอง 20 ม.ค. — 30 มิ.ย. 54 ภาคใต้ 2 พ.ค. — 15 ส.ค. 54
- ทำสัญญาประกันรายได้ 20 ม.ค. 53 — 31 ก.ค. 54 ภาคใต้ 2 พ.ค. 53 — 15 ก.ย. 54
- ระยะเวลาใช้สิทธิ 1 ก.พ. — 15 ก.ย. 54 ภาคใต้ 1 มิ.ย. - 31 ต.ค. 54
- ราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกร กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้เกษตรกรต่อครัวเรือน ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
- ข้าวเปลือกเจ้าตันละ ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 30 ตัน / ครัวเรือน
- ข้าวเปลือกปทุมธานี1 ตันละ 11,500 บาท ไม่เกิน 30 ตัน / ครัวเรือน
- ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 30 ตัน / ครัวเรือน
ราคา ประจำวันที่ 17 ต.ค. 54
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ราคาข้าวมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกตลาด เนื่องจากผลของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ที่เริ่มรับจำนำตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2554 ในราคาสูง ประกอบกับผลผลิตในตลาดมีน้อยเพราะเกษตรกรในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวผลผลิตเดือนสิงหาคม-กันยายนเกือบหมดแล้ว ส่วนผลผลิตที่เหลือกระทบน้ำท่วมเสียหาย
การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 11 ตุลาคม 2554 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 9.298 ล้านตันข้าวสารเพิ่มขึ้นจาก 6.408 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ร้อยละ 45.10 (ที่มา : กรมการค้าภายใน)
1.2 ราคา
ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,359 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,913 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 3.20
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,279 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,018 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.61
ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,724 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,882 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.06
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ความชื้น 14-15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,279 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,018 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.61
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 17,250 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 17,130 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.70
ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,138 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,911 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,130 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,964 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.71 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 53 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 986 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,248 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 963 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,797 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.39 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 451 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 603 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,498 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 599 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,534 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.67 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 36 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 555 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,026 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 551 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,049 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.73 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 23 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5%ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 606 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,590 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 602 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,627 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.66 แต่ลดลงในรูป
เงินบาทตันละ 37 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.6774
2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ
2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
1) การผลิต
ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนเบื้องต้นว่าผลผลิตข้าวโลกปี 2554/55 ประจำเดือนตุลาคม 2554 ว่าจะมี 461.394 ล้านตันข้าวสาร (691.4 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 451.376
ล้านตันข้าวสาร (677.0 ล้านตันข้าวเปลือก) ของปี 2553/54 ร้อยละ 2.22 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตของประเทศผู้บริโภคและผู้ส่งออกที่สำคัญของโลก เช่น บังคลาเทศ พม่า จีน อียิปต์ อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน
ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และไทย
2) การค้าข้าวโลก
บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนบัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2554/55
ณ เดือนตุลาคม 2554 ว่าผลผลิต ปี 2554/55 จะมี 461.394 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.22 การใช้ในประเทศจะมี 457.783 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 2.24 การส่งออก/นำเข้าจะมี 32.970 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.72 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 101.414 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.69
โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อียิปต์ อียู อินเดีย และปากีสถาน ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ บราซิล พม่า กายานา ญี่ปุ่น อุรุกวัย เวียดนาม สหรัฐฯ และไทย
สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ แคนาดา โกตดิวัวร์ ฮ่องกง อิหร่าน อิรัก เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บังคลาเทศ จีน คิวบา อียู อินโดนีเซีย โมแซมบิค ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้
ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน และอินเดีย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา
2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
พายุไต้ฝุ่นถล่มเอเชีย พื้นที่การเกษตรเสียหาย ราคาสินค้าอาหารสูงแน่
พายุไต้ฝุ่นหลายลูกถล่มเอเชียส่งผลให้น้ำท่วมหนักและขังนานตั้งแต่พายุนกเตนในเดือนกรกฎาคม-ปัจจุบัน ทำให้พื้นที่เกษตรเสียหายในหลายประเทศ โดยเฉพาะเวียดนาม กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ และไทย พื้นที่เกษตรที่กระทบหนักที่สุดคือ ข้าว เพราะเอเชียเป็น “อู่ข้าว” ที่สำคัญของตลาดโลก ซึ่งไทยและเวียดนามเป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับ 1 และ 2 ของโลก มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าร้อยละ 60 ซึ่งเมื่อรวมกัมพูชาและลาวแล้ว คาดว่า พื้นที่นาข้าวเกือบ 9.37 ล้านไร่ ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2554)
ไทย เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยนาข้าวจมน้ำประมาณ 7.2
ล้านไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2554) คาดผลผลิตเสียหาย 22.580 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง 2.556 ล้านตันข้าวเปลือก จากที่ประมาณการไว้ 25.136 ล้านตันข้าวเปลือก เมื่อเดือนมิถุนายน 2554
เวียดนาม เป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก ได้รับผลกระทบไม่มากนัก พื้นที่เพาะปลูกเสียหายส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง ซึ่งเสียหายประมาณ 0.62 ล้านไร่ คาดผลผลิตลดลงประมาณ 0.53 ล้านตันข้าวเปลือก
กัมพูชา มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 15.0 ล้านไร่ คาดพื้นที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมประมาณ 1.125 ล้านไร่ ผลผลิตเสียหายไม่มากนักประมาณ 0.15 ล้านตันข้าวเปลือก
ลาว พื้นที่นาข้าวได้รับผลกระทบเสียหายประมาณ 0.30 ล้านไร่ ผลผลิตเสียหายประมาณ 0.10 ล้านตันข้าวเปลือก
ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดซึ่งอยู่ในเอเชียเช่นกัน ได้รับผลกระทบหนัก คาดว่า ผลผลิตข้าวเปลือกเสียหายประมาณ 0.760 ล้านตันข้าวเปลือก อาจทำให้ต้องมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 10 - 16 ตุลาคม 2554--