สศข.7 ประเมิน GPP ภาคเกษตรจังหวัดชัยนาท ปี 54 คาดขยายตัวร้อยละ 11

ข่าวทั่วไป Monday November 14, 2011 15:56 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 คาดการณ์อัตราการขยายตัวของ GPP ภาคเกษตรกรรม จ.ชัยนาท ปี 2554 ขยายตัวประมาณร้อยละ 11 เนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก พืชส่วนใหญ่มีการเจริญเติบโตดี ราคาสินค้าเกษตรและความต้องการของผู้บริโภคขยับตัวสูงขึ้น ถึงแม้จะมีผลกระทบจากน้ำท่วมในช่วงปลายไตรมาส 3 ต่อไตรมาส 4 ก็ตาม โดยสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ออกสู่ตลาดเกือบหมดแล้ว คงเหลือแต่ผลผลิตข้าวนาปีที่คาดว่าจะเสียหายจากน้ำท่วมเช่นเดียวกับปีก่อน

นางจันทร์ธิดา มีเดช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 (สศข.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตรจังหวัดชัยนาท ปี 2554 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับฐานมูลค่าการผลิตที่ต่ำในปี 2553 ที่ได้รับผลกระทบทั้งจากภัยแล้งและศัตรูพืชในช่วงแรกของปี และผลกระทบจากภัยน้ำท่วมในช่วงปลายปี โดยปัจจัยหนุนที่ส่งผลให้การผลิตมีการขยายตัว คือ ในช่วงครึ่งปีแรกสภาพอากาศโดยรวมค่อนข้างปกติ พืชส่วนใหญ่มีการเจริญเติบโตดี ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ขยับตัวสูงขึ้น และความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งนโยบายและมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงปลายไตรมาส 3 ปัจจัยที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตร คือ ภัยธรรมชาติด้านอุทกภัย และได้รับอิทธิพลจากพายุนกเตนที่เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2554 ทำให้พื้นที่การเกษตรต้องประสบกับภัยน้ำท่วมที่มาเร็วและรุนแรงกว่าปีก่อน โดยเฉพาะในเขตอำเภอสรรพยาซึ่งมีพื้นที่อยู่ท้ายเขื่อน เป็นแหล่งรองรับน้ำก่อนอำเภออื่น และเป็นช่วงใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี ทำให้นาข้าว สัตว์ปีก และปลาเลี้ยง เสียหายมากกว่าอำเภออื่น

เมื่อพิจารณาเป็นรายสาขา พบว่า สาขาที่มีการขยายตัว ได้แก่ สาขาพืช คาดว่าขยายตัวร้อยละ 15 เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังเพิ่มขึ้น ร้อยละ 31 จากอากาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูก ทำให้เกษตรกรในเขตชลประทานเร่งการเพาะปลูกทันทีที่น้ำลดลง เพื่อชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วมเมื่อปี 2553 และผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 105 เนื่องจากมีการขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น เพราะราคาอ้อยโรงงานมีแนวโน้มสูงขึ้น และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพืชชนิดอื่น โดยปลูกแทนมันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่วนพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเขียว สาเหตุจากพื้นที่ปลูกลดลง และมันสำปะหลังมีผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากเกษตรกรขุดมันเร็วขึ้นกว่าปกติ เพราะราคาดี ทำให้ได้มันอ่อนและมันหัวเล็ก สำหรับข้าวนาปี ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดนั้น มีผลผลิตลดลง แม้ว่าปีนี้สภาพอากาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูก ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตดี จนกระทั้งใกล้ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต ข้าวอยู่ในระยะออกรวงถึงเก็บเกี่ยว แต่กลับต้องประสบกับภัยน้ำท่วม ซึ่งปีนี้น้ำที่ท่วมมาเร็วกว่าปีที่แล้ว ทำให้พื้นที่นาลุ่มต้องประสบกับน้ำที่เอ่อล้นแนวคันคลองชลประทานและน้ำเหนือที่ไหลบ่าท่วมอย่างรวดเร็ว เกษตรกรไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทัน ส่งผลให้ผลผลิตข้าวเสียหาย

สาขาปศุสัตว์ คาดว่าขยายตัวประมาณร้อยละ 1 จากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น และระดับราคาสินค้าปศุสัตว์โดยรวมมีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับการดำเนินการและมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ เช่น การป้องกันโรคระบาดต่าง ๆ ในสัตว์ หรือมาตรการวางแผนด้านการผลิต ส่งผลให้การผลิตในภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนในช่วงปลายไตรมาส 3 ถึงไตรมาส 4 สัตว์ปีกต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมเช่นกันแต่ไม่มากนัก และ สาขาบริการทางการเกษตร คาดว่าขยายตัวร้อยละ 4 เนื่องจากมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีการใช้บริการด้านการเตรียมดินเพิ่มขึ้น ส่วนการใช้บริการเครื่องเกี่ยวข้าวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากพื้นที่เก็บเกี่ยวของข้าวนาปรังที่เพิ่มขึ้น แต่พื้นที่เก็บเกี่ยวของข้าวนาปี คาดว่าจะเสียหายจากน้ำท่วม

สำหรับสาขาที่หดตัว ได้แก่สาขาประมง คาดว่าหดตัวลงอย่างต่อเนื่องประมาณร้อยละ 4 โดยช่วงครึ่งปีแรก สภาวะแวดล้อมและสภาพแหล่งน้ำตามธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลง สาเหตุมาจากปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมเมื่อปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการแพร่ขยายพันธุ์ ทำให้สัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลง ส่วนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น สาเหตุจากราคาที่สูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณการเลี้ยง แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี มีภาวะน้ำท่วมที่มาเร็วและรุนแรงกว่าปีก่อน ได้สร้างความเสียหายอย่างมากต่อการเพาะเลี้ยงปลาในกระชังในแถบแม่น้ำเจ้าพระยาและปลาเลี้ยงในบ่อ รวมถึงการเพาะเลี้ยงกุ้งขาว ซึ่งมีผลกระทบต่อการผลิตในภาพรวมของสาขาประมงในช่วงไตรมาสสุดท้าย สุดท้ายคือ สาขาป่าไม้ คาดว่าหดตัวร้อยละ 18 เนื่องจากปริมาณไม้ที่ตัดออกสู่ตลาดมีน้อยกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากไม้เจริญเติบโตไม่ทันที่จะนำมาตัดเพื่อใช้ประโยชน์ได้ และพื้นที่ปลูกไม้เศรษฐกิจลดลง เนื่องจากเจ้าของพื้นที่หันไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่เร็วและดีกว่า ส่วนผลผลิตของป่า จากป่าธรรมชาติ เช่น เห็ดโคน และหน่อไม้ คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากปีนี้มีฝนตกชุกกว่าปีที่แล้ว

นางจันทร์ธิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ ได้ขยายเป็นวงกว้าง และมีความรุนแรงกว่าปีที่แล้ว จะมีผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตรในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปีหน้า โดยเฉพาะข้าวนาปรังในเขตชลประทานที่ต้องชะลอการปลูกออกไป เพราะผลกระทบจากน้ำท่วมที่คาดว่าจะขังนาน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ