สศข.8 ลงพื้นที่เยี่ยมเกษตรกร สำรวจสวนยางพารา จ.สุราษฎร์ธานี

ข่าวทั่วไป Monday November 14, 2011 16:11 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 ลงพื้นที่สุราษฎร์ธานีพบเกษตรกร เผย ปี 54 มีเนื้อที่กรีดได้แล้ว 1,705,420 ไร่ ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 388,840 ตัน หรือร้อยละ 16 ของผลผลิตภาคใต้ทั้งหมด และร้อยละ 12 ของผลผลิตทั้งประเทศ โดยพ่อค้าและเกษตรกรได้มีการใช้น้ำยางผลิตเป็น “ขี้ถ้วย” หรือเศษยางคละทำให้ประหยัดเวลาในการเก็บน้ำยาง สามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายของน้ำยางที่กรีดแล้วหากมีฝนตกได้ด้วย แนะ ควรศึกษาผลตอบแทนและความต้องการของตลาด

นายอนุสรณ์ พรชัย อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 สุราษฎร์ธานี (สศข.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ในท้องที่อำเภอไชยา อำเภอท่าฉาง อำเภอวิภาวดี และอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเยี่ยมเยียนเกษตรกรชาวสวนยางพารา ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีนับว่าเป็นแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญ โดยปี 2554 มีเนื้อที่กรีดได้แล้วประมาณ 1,705,420 ไร่ คาดว่าผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ประมาณ 388,840 ตัน หรือร้อยละ 16 ของผลผลิตภาคใต้ทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ 12 ของผลผลิตทั้งหมดของประเทศ และจากการติดตามสถานการณ์ พบว่าสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย มีฝนตกต่อเนื่องกระจายจนถึงปัจจุบัน คาดว่าปริมาณผลผลิตลดลงจากปีที่แล้ว ประกอบกับราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ประกอบการไม่มั่นใจกับสภาพเศรษฐกิจโลก โดยราคายางแผ่นดิบชั้นที่ 3 ที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา สูงสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 173.70 บาท สำหรับเดือนตุลาคม 2554 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 108.70 บาท ลดลงร้อยละ 37.42 ส่วนราคาสัปดาห์ที่ 1 เดือนพฤศจิกายน 2554 กิโลกรัมละ 94.70 บาท ด้านเศษยางพาราคละ สูงสุด เดือนกุมภาพันธ์ 2554 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 70.25 บาท เดือนตุลาคม 2554 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 54.20 บาท ลดลงร้อยละ 22.85 ส่วนราคาในสัปดาห์ที่ 1 เดือนพฤศจิกายน 2554 กิโลกรัมละ 50.00 บาท

จากการลงพื้นที่อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่ามีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 330,042 ไร่ ผลผลิตประมาณ 1 ใน 5 ของผลผลิตจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยในพื้นที่ หมู่ 4,6,7 และหมู่ 10 ของตำบลบางงอน พบว่า จำนวนวันที่เกษตรกรกรีดยางได้ลดลง แม้ว่าเกษตรกรเริ่มทำการเปิดกรีดได้เร็วขึ้น เนื่องจากใบอ่อนเจริญเติบโตได้ดีเป็นใบแก่ได้เร็วขึ้น และเกษตรกรบางรายยังกรีดยางโดยไม่พักต้นยางในช่วงผลัดใบหรือที่เกษตรกรท้องถิ่นเรียกว่า“กรีดผ่ายอด” หรือกรีดขณะที่เป็นใบอ่อน นอกจากนี้ ยังได้พบปะเยี่ยมเยียนพ่อค้ารวบรวมผลผลิตยางพาราแผ่นดิบและเศษยาง ในพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลบางงอน ซึ่งเกษตรกรนำผลผลิตออกมาจำหน่ายค่อนข้างน้อยและผลผลิตส่วนใหญ่ที่เป็นเศษยางคละที่นำออกจำหน่าย อย่างไรก็ตาม จากคำบอกเล่าของพ่อค้ารวบรวมผลผลิตและเกษตรกรนั้น การใช้น้ำยางผลิตเป็น “ขี้ถ้วย” หรือเศษยางคละทำให้ประหยัดเวลาในการเก็บน้ำยาง อีกทั้งสามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายของน้ำยางที่กรีดแล้วมีฝนตกด้วยซึ่งเห็นว่า ควรมีการศึกษาวิจัยถึงการที่เกษตรกรหันมาผลิตขี้ถ้วยหรือเศษยางคละ ว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด และให้ผลตอบแทนต่อปีมากกว่าการผลิตยางแผ่นดิบหรือไม่ รวมถึงความต้องการของตลาดมีความยั่งยืนมากน้อยเพียงไรต่อไป นายอนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ