สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 ชลบุรี นำทีมร่วมกับสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ระยอง และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ภาคตะวันออก จัดประชุมคณะทำงานพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านพืชภาคตะวันออก มุ่งหารือแนวทาง ระเบียบวิธีการจัดทำข้อมูลด้านพืช สู่การพัฒนาข้อมูลให้มีคุณภาพ และเป็นเอกภาพร่วมกันในแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน
นายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 ชลบุรี (สศข.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านพืชภาคตะวันออกว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ มีการจัดทำข้อมูลด้านการเกษตรที่หลากหลายเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทั้งภายในองค์กรและเผยแพร่ต่อผู้สนใจภายนอก ทำให้ข้อมูลมีความซ้ำซ้อนแตกต่างกัน ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงมีแนวทางการพัฒนาข้อมูลอย่างมีคุณภาพ ถูกต้อง เป็นเอกภาพอย่างยั่งยืน รวมทั้งมีรูปแบบการดำเนินงานร่วมกันแบบบูรณาการที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นตั้งแต่ระดับภาคขึ้นไป
ในการนี้ สศข.6 จึงได้จัดประชุมพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านพืชภาคตะวันออก ดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 เพื่อชี้แจงขั้นตอน แนวทาง ระเบียบวิธีการจัดทำข้อมูล การวางแผน และการรายงานข้อมูล รวมทั้งบทบาทหน้าที่ของคณะทำงานฯ ในการพัฒนาคุณภาพของข้อมูลด้านพืช ซึ่งแนวทางครั้งนี้ ได้เน้นพัฒนาคุณภาพข้อมูลในพืชหลักเร่งด่วน ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังโรงงาน สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ไม้ผล หรือสินค้าอื่นที่จำเป็น
สำหรับคณะทำงานพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านพืชภาคตะวันออกนั้น มีคณะทำงานร่วมจากหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย ผอ.สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 (สสข.3 ระยอง) เป็นรองประธาน ร่วมด้วยหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในภาคตะวันออก ทั้งสำนักชลประทานที่ 9 (สชป.9 ชลบุรี) สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6 จันทบุรี) ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี ศูนย์วิจัยข้าวฉะเชิงเทรา ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชลบุรี เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด ทั้ง 9 จังหวัด รวมทั้งศูนย์สารสนเทศการเกษตรของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนกลางร่วมเป็นคณะทำงานอีกด้วย
นายพลเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การบูรณาการร่วมกันครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดี ที่มีแนวทางการพัฒนาคุณภาพข้อมูลที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างยั่งยืน ซึ่งการจัดทำข้อมูลด้านพืชข้างต้น ต้องเป็นข้อมูลที่มีความแนบนัย เป็นที่ยอมรับในระดับอำเภอ /จังหวัด/ภาค และเป็นข้อมูลที่เป็นเอกภาพ ก่อนนำเสนอคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตรด้านพืชฯ เพื่อพิจารณากลั่นกรองความเห็นชอบข้อมูลในระดับจังหวัด/ภาค และระดับประเทศ และนำข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตร ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาเห็นชอบสำหรับเป็นข้อมูลของกระทรวงเกษตรฯ ก่อนนำเผยแพร่ ทั้งนี้ ข้อมูลที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว ทางกระทรวงเกษตรฯ จะนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดทุกครั้งเพื่อประกาศเป็นข้อมูลทางการระดับจังหวัดสำหรับนำไปบริหารจัดการภาคการเกษตรต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--