สศก.ร่วมกับธนาคารโลก ลงพื้นที่ประเมินความเสียหายด้านการเกษตรจากอุกทภัย

ข่าวทั่วไป Friday November 25, 2011 13:35 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมกับธนาคารโลกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหายด้านการเกษตร ในจังหวัดนครสวรรค์และลพบุรี เพื่อนำไปฟื้นฟูช่วยเหลือเร่งด่วน และจัดทำแผนพัฒนาและแก้ปัญหาภัยพิบัติในระยะสั้น ด้านเกษตรกรวอนภาครัฐช่วยเหลือเงินทุนให้ทันต่อการเพาะปลูกหลังน้ำลด ดูแลเรื่องปัจจัยการผลิต

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ (อุทกภัย) ด้านการเกษตร ปี 2554 ร่วมกับทาง World Bank โดยการสำรวจข้อมูลในครั้งนี้เป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นกรณีศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์และลพบุรี เพื่อนำไปฟื้นฟูช่วยเหลือเร่งด่วน และจัดทำแผนพัฒนาและแก้ปัญหาภัยพิบัติในระยะสั้น จนถึงระยะยาวต่อไป โดยแบ่งการสำรวจออกเป็น 4 ภาคหลัก คือ ภาคโครงสร้างพื้นฐาน (Inflastructure) ภาคการผลิต(Productive) ภาคสังคม (Social) ภาคที่เป็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(Cross sectoral) และประกอบด้วยภาคย่อยอีก 18 ภาค ซึ่งอยู่ในภาคการผลิตจาก เจ้าหน้าที่เกษตร ธกส. ผู้ใหญ่บ้าน เกษตรกร และใช้แหล่งข้อมูลจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธ.ก.ส. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานสถิติ เพื่อประเมินผลกระทบจากน้ำท่วม

การสำรวจครั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้สำรวจความเสียหายด้านการเกษตรร่วมกับ World Bank FAO TDRI ธกส. GISDA กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง ใน 2 จังหวัด ได้แก่ จ.นครสวรรค์ ที่อ.ชุมแสง อ.เมือง อ.ท่าตะโก และลงพื้นที่สำรวจจังหวัดลพบุรีใน อ.บ้านหมี่ และอ.ท่าวุ้ง ซึ่งพบว่า สินค้าเกษตรส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย นาข้าว ส่วนพืชไร่ที่ได้รับความเสียหาย ได้แก่ มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน ด้านปศุสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ปีก (ไก่เนื้อ และไก่ไข่) และสุกร ส่วนประมง ได้แก่ บ่อเลี้ยงปลา และปลาในกระชัง นอกจากนี้ เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์การเกษตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ได้แก่ เครื่องปั๊มน้ำ เครื่องพ่นยา ด้านประมง ได้แก่ เครื่องตีน้ำ เครื่องบดเหยื่อ โรงเรือนเลี้ยงไก่ เป็นต้น

สำหรับความเสียหาย พบว่า นาข้าว ส่วนใหญ่เสียหาย 100 % เนื่องจากปีนี้น้ำมีปริมาณมาก และท่วมเร็วกว่าปกติ (ปกติน้ำท่วมในช่วง ก.ย.-ต.ค. ) โดยมีบางส่วนที่เกี่ยวหนีน้ำประมาณ 5 — 10 % แต่เป็นการเก็บเกี่ยวข้าวที่ยังไม่ได้อายุ หรือที่เรียกว่าเกี่ยวเขียว ซึ่งขายได้ราคาต่ำมาก ประมาณตันละ 2,000- 3,000 บาท และส่วนใหญ่ใช้เพื่อเป็นอาหารสัตว์ ส่วนมันสำปะหลัง ที่ถูกน้ำท่วมขังนานกว่า 10 วัน หัวมันจะเน่า เสียหายประมาณ 40 % ส่วนอ้อยโรงงาน ที่ถูกน้ำท่วมขังนานมากว่า 15 วัน ส่วนยอดยังเขียวอยู่แต่ส่วนล่างลำต้นแห้ง คาดว่าเสียหาย 40 — 60 %

นอกจากนี้ จากการสำรวจ พบว่า เกษตรกรต้องการเงินทุนด่วน ให้ทันต่อการเพาะปลูก หลังน้ำลด และต้องการให้ภาครัฐ ดูแลเรื่องปัจจัยการผลิต เพราะราคาเพิ่มสูงขึ้นทั้งพันธุ์และปุ๋ย อย่างไรก็ตาม ทาง ธกส. ได้ให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาน้ำท่วมกู้ครัวเรือนละ 100,000 บาท โดยจ่ายให้เป็น เมล็ดพันธุ์ และปุ๋ย รวมทั้งพักชำระหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ย 3 ปี ทั้งนี้ พบว่า เกษตรกรไม่กังวลที่จะขาดแคลนเมล็ดพันธ์ เพราะ ธ.ก.ส. มีการสำรวจความต้องการของเกษตรกร และขอชื้อเมล็ดพันธุ์จากลูกค้าที่ไม่ประสบปัญหาน้ำท่วม โดย ธ.ก.ส. มั่นใจที่จะสามารถจัดสรรได้เพียงพอ ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ กข.29 (CP) อายุ 105 วัน ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และขอให้เร่งจัดหาพันธุ์ปลา และดูแลเรื่องปัจจัยการผลิตต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ