1.1 การตลาด
1) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2554/55
1.1) มติ กขช. เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554 และมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 54 รับทราบกรอบ ชนิด ราคา ปริมาณ ระยะเวลา วิธีการ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข การรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ดังนี้
1.2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
(1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ (42 กรัม) ตันละ 20,000 บาท (2) ข้าวเปลือกหอมจังหวัด (40 กรัม) ตันละ 18,000 บาท
(ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 23 จังหวัด)
(3) ข้าวเปลือกปทุมธานี (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท
(4) ข้าวเปลือกเหนียว :-
ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว ตันละ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น ตันละ 15,000 บาท
(5) ข้าวเปลือกเจ้า :-
ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท
ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้างต้นให้ปรับเพิ่ม-ลดตามจำนวนกรัม ในอัตรากรัมละ 200 บาท
1.3) เป้าหมายการรับจำนำ ไม่จำกัดปริมาณข้าวเปลือกที่รับจำนำทั้งโครงการ ส่วนปริมาณข้าวเปลือกที่เกษตรกรแต่ละรายจะจำนำได้ไม่จำกัดจำนวนเช่นกัน โดยต้องเป็นข้าวเปลือกที่เกษตรกรเพาะปลูกเองในปีการผลิต 2554/55 และต้องมีหนังสือรับรองเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งผ่านการทำประชาคม และเกษตรกรลงชื่อรับรองตัวเอง พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร และปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงชื่อรับรองด้วย
1.4) ระยะเวลาดำเนินการ
- ระยะเวลาดำเนินการรับจำนำ 7 ตุลาคม 2554 — 29 กุมภาพันธ์ 2555
(ภาคใต้ 1 กุมภาพันธ์ 2555 — 31 กรกฎาคม 2555)
- ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ
- ระยะเวลาโครงการ 7 ตุลาคม 2554 — 30 กันยายน 2555
ผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2554/55
(ตั้งแต่ วันที่ 7-15 พฤศจิกายน 2554)
----------------------------- ปริมาณการรับจำนำข้าวเปลือก (ตัน) -----------------------------
รายการ จุดรับจำนำ จำนวนใบประทวน ข้าวเจ้า ข้าวปทุมธานี ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมจังหวัด ข้าวเหนียว รวมทุกชนิดข้าว ภาคเหนือ 164 70,956 460,362 806 39,007 23,586 24,805 548,566 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 168 20,797 3,152 3 77,995 201 81,352 ภาคกลาง 210 28,172 227,159 4,426 6,813 238,398 ภาคใต้ --------------------------------------------- ยังไม่ดำเนินการ ----------------------------------------------------- รวมทั้งประเทศ 542 119,925 690,673 5,236 117,002 30,398 25,006 868,316
ที่มา: ศูนย์บริหารจัดการโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร กรมการค้าภายใน
2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 (รอบ 2)
ขณะนี้โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 (รอบ 2) ได้สิ้นสุดการจ่ายเงินชดเชยรายได้แก่เกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2554 สรุปผลได้ดังนี้
- ผลการดำเนินงาน โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54 (รอบที่ 2) ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2554
รายการ ครัวเรือน ฐานข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปี 2552/53 832,410 ผ่านการรับรองโดยประชาคม (ราย) 922,117 ธ.ก.ส. ทำสัญญาทั้งหมด 916,348 ธ.ก.ส. อนุมัติจ่ายเงินแล้ว (ราย) 878,703 (จำนวนเงิน) 31,606.30 ล้านบาท
ที่มา : ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้และราคาข้าวสารส่งออกปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผลของโครงการรับจำนำในราคาสูงและรัฐเร่งเปิดจุดรับจำนำจำนวนมาก ประกอบกับผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในช่วงนี้ความชื้นลดน้อยลงเพราะภูมิอากาศเริ่มเย็นลงและแห้ง
การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 15 พฤศจิกายน 2554 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 9.895 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 7.460 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 32.64 (ที่มา : กรมการค้าภายใน)
1.2 ราคา
ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,021 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,004 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.11
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,176 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,132 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.43
ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,524 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,892 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.64
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 17,690 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 17,430 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.49
ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,178 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,028 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,199 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,522 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.75 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 494 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 992 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,340 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 995 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,308 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.30 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 32 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 647 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,788 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 632 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,251 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.37 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 537 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 606 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,534 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,276 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.00 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 258 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 626 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,146 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 628 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,129 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.32 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 17 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.5844
2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
1) การผลิต
ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนเบื้องต้นว่าผลผลิตข้าวโลกปี 2554/55 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2554 ว่าจะมี 460.954 ล้านตันข้าวสาร (690.4 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 451.216 ล้านตันข้าวสาร (676.7 ล้านตันข้าวเปลือก) ของปี 2553/54 ร้อยละ 2.16 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตของประเทศผู้บริโภคและผู้ส่งออกที่สำคัญของโลก เช่น บังคลาเทศ จีน อียิปต์ อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา
2) การค้าข้าวโลก
บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนบัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2554/55
ณ เดือนพฤศจิกายน 2554 ว่าผลผลิต ปี 2554/55 จะมี 460.954 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.16 การใช้ในประเทศจะมี 458.326 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 2.42 การส่งออก/นำเข้าจะมี 32.920 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.22 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 100.566 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.68
โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย จีน อียิปต์ อียู อินเดีย และปากีสถาน ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ บราซิล พม่า กัมพูชา กายานา ญี่ปุ่น อุรุกวัย เวียดนาม สหรัฐฯ และไทย
สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ แคนาดา โกตดิวัวร์ ฮ่องกง อิหร่าน อิรัก เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บังคลาเทศ จีน คิวบา อียู อินโดนีเซีย โมแซมบิค เซเนกัล และแอฟริกาใต้
ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน และอินเดีย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา
2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
1) เวียดนาม
สมาคมของเวียดนาม (The VietNam Food Association; VFA) รายงานว่า เวียดนามส่งออกข้าวในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-10 พ.ย. 54 มีจำนวน 6.479 ล้านตัน มูลค่า 3.147 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังรายงานว่า ในงานประชุมนานาชาติ ครั้งที่ 2 (2nd Vietnam Rice Festival) ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8-11 พ.ย. ที่จังหวัดซอค ตรัง (Soc Trang province) ทางตอนใต้ของเวียดนามว่า ปี 2554 นี้ จะสามารถส่งออกข้าวได้มากกว่า 7 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 20 ของการค้าข้าวทั้งหมดของโลก นอกจากนี้เวียดนามยังให้ความสำคัญกับการผลิตข้าวในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม ซึ่งเป็นอู่ข้าวของประเทศ และคาดคาดว่าภายในปี 2558-2559 (2015-2016) เวียดนามอาจจะส่งออกข้าวได้ถึง 10 ล้านตัน โดยคาดว่า ผลผลิตข้าวอาจเพิ่มสูงขึ้นในปริมาณ 44-45 ล้านตัน ในปี 2559 และจะสามารถส่งออกได้มากกว่า 9 ล้านตัน
อนึ่ง แม้ราคาส่งออกข้าวเวียดนามสูงกว่าข้าวอินเดียถึงตันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ลูกค้าอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ยังมีความต้องการ แต่อย่างไรก็ตามผู้ส่งออกเวียดนามยังลังเลที่จะทำสัญญาส่งออกใหม่เพราะจะต้องติดตามข้อมูลข้าวจากตลาดอินเดียและไทยก่อน
ขณะนี้เกษตรกรในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงได้เก็บเกี่ยวข้าวฤดูที่ 3 (Autumn-winter crop) แล้ว โดยราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ราคาเกษตรกรขายได้ในจังหวัดดองทัพและอันเกียง (Dong Thap and An Giang Province) มีราคากิโลกรัมละ 7,000 และ 8,000 ดอง ตามลำดับ
ที่มา: Riceonline.com
2) อินเดีย
อินเดียได้ปรับเพิ่มราคารับซื้อข้าวเปลือกขั้นต่ำจากเกษตรกร [The minimum support price (MSP) of paddy] อีก 80 รูปี/100 กิโลกรัม โดยข้าวเปลือกชนิดธรรมดา (common variety) ราคา 1,080 รูปี/100 กิโลกรัม (ประมาณ 213 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน หรือ 6,514 บาท/ตัน) สำหรับข้าวเปลือกเกรด A ราคา 1,100 รูปี/100 กิโลกรัม (ประมาณ 217 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน หรือ 6,637 บาท/ตัน) แต่สมาคมชาวนา รายงานว่า อัตราดังกล่าวที่รัฐบาลกำหนดนั้นยังต่ำเกินไป และทางสมาคมฯ จะขอให้รัฐบาลปรับเพิ่มเป็น 1,500 รูปี/100 กิโลกรัม (ประมาณ 296 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน หรือ 9,053 บาท/ตัน) เนื่องจากราคาดังกล่าวยังขาดทุนเนื่องจากต้องประสบกับภาวะน้ำท่วม ภัยแล้ง ราคาปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชปรับตัวสูงขึ้น
ปีงบประมาณ 2554/55 (1 ส.ค. 54-30 ก.ย. 55) อินเดียตั้งเป้าจัดซื้อข้าวจากเกษตรกรปริมาณ 35.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 34.0 ล้านตัน ของปีงบประมาณ 2553/54 ประมาณ 1.3 ล้านตัน เนื่องจากคาดว่าผลผลิตจะประสบกับปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม
ที่มา: Riceonline.com, FAO.com
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 14 - 20 พฤศจิกายน 2554--