ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งแรกของปี 2554 และแนวโน้มปี 2554

ข่าวทั่วไป Thursday December 15, 2011 15:10 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

เศรษฐกิจโลก

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2554 ยังคงดำเนินต่อไปได้ โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อาทิ ประเทศจีน และอินเดีย ขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกายังขยายตัวได้เช่นกัน แต่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการ เช่น ปัญหาด้านการคลัง อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งสภาพอากาศที่ค่อนข้างแปรปรวน สำหรับกลุ่มยูโรโซน มีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังมีความอ่อนไหวทางด้านการคลังและปัญหาหนี้สาธารณะอยู่ ส่วนเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นหดตัวลงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิซึ่งมีความรุนแรงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF)ได้คาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปี 2554 ณ เดือนมิถุนายน 2554 ว่า มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.3 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะต่ำกว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา

อัตราแลกเปลี่ยน

1) เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนมกราคม — มิถุนายน 2554 อยู่ที่ 30.41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คือ 32.59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้นร้อยละ 6.7 โดยมีปัจจัยหนุนจากการกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในภูมิภาคเอเชียรวมถึงประเทศไทย ประกอบกับความวิตกกังวลในแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยอดขาดดุลงบประมาณที่มีมูลค่ามหาศาลของรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง

2) เงินบาทต่อยูโร มีแนวโน้มแข็งค่าเช่นเดียวกับดอลลาร์สหรัฐ โดยอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนมกราคม — มิถุนายน 2554 อยู่ที่ 42.66 บาท/ยูโร แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คือ 43.32 บาท/ยูโร หรือแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.5เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะในประเทศกรีซซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจลุกลามในยูโรโซน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในสกุลเงินยูโรลดลง

ราคาน้ำมันดิบดูไบ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยราคาเฉลี่ยเดือนมกราคม — มิถุนายน 2554อยู่ที่ 105.08 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ 76.99 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.5 เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศลิเบีย และขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันที่สำคัญ รวมทั้งความต้องการใช้น้ำมันในประเทศจีนและอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ราคาน้ำมันขยับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภาพรวมเศรษฐกิจไทย

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยยังคงขยายตัวได้ดี โดยมีแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน สำหรับการส่งออกขยายตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และตลาดใหม่ เช่น กลุ่มประเทศอาเซียน จีน ทวีปแอฟริกา และละตินอเมริกา โดยการส่งออกในช่วงเดือนมกราคม — พฤษภาคม 2554 คิดเป็นมูลค่า 2,828,047 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ส่งออกได้ 2,439,960ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15.9

เมื่อพิจารณาถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในเดือนมกราคม - มิถุนายน 2554 อยู่ที่ร้อยละ 3.55 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.47 เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาสินค้าในหมวดอาหารเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจของประเทศยังอยู่ในเสถียรภาพ ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ประมาณการเศรษฐกิจ ณ เดือนมิถุนายน 2554 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2554 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5 — 4.5

ภาพรวมเศรษฐกิจการเกษตร

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ยังคงขยายตัวได้ดี แม้ว่าในช่วงต้นปีจะเกิดภาวะแห้งแล้งในพื้นที่บางส่วนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงปัญหาอุทกภัยในภาคใต้ แต่ไม่กระทบต่อการผลิตทางการเกษตรมากนักโดยผลผลิตของพืชสำคัญ เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และยางพารา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผลผลิตที่ลดลงได้แก่ ถั่วเหลือง และปาล์มน้ำมัน ขณะที่ราคาพืชส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากสภาพอากาศในภาพรวมค่อนข้างเป็นปกติ สำหรับสาขาปศุสัตว์ ผลผลิตปศุสัตว์ที่สำคัญ อาทิ ไก่เนื้อ สุกร และไข่ไก่ ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น จากแรงจูงใจทางด้านราคา ประกอบกับการวางมาตรการควบคุมโรคที่ดีและระบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐานทำให้การผลิตปศุสัตว์ในภาพรวมดีขึ้น ส่วนสาขาประมงหดตัวลงค่อนข้างมาก เนื่องจากสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนและผันผวนค่อนข้างมาก ส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยง อัตราการรอด และการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ ทั้งการทำประมงทะเลและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จากราคาน้ำมันและวัตถุดิบในการผลิตอาหารกุ้งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ กุ้งและผลิตภัณฑ์ มีแนวโน้มสดใสเนื่องจากความต้องการจากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อพิจารณาถึงดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม2554 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 109.79 และ 175.33 ตามลำดับ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 97.09 และ 141.79ตามลำดับ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 และ 23.7 ตามลำดับ เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากความต้องการของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย คาดว่าภาพรวมภาคเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี2554 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.3

สาขาพืช

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 การผลิตสาขาพืชขยายตัวค่อนข้างดีแม้ว่าในช่วงต้นปีจะเกิดภาวะภัยแล้งและศัตรูพืชระบาดในบางพื้นที่ เช่นเชียงราย แพร่ และประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงอุทกภัยและวาตภัยที่เกิดขึ้นในภาคใต้ สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันแต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาพรวมมากนัก ทั้งนี้ ผลผลิตยางพาราทั้งประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีเนื้อที่กรีดยางในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นมาทดแทนส่วนที่เสียหายทางภาคใต้ ส่วนปาล์มน้ำมันมีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงและมีปัญหาด้านคุณภาพ เนื่องจากได้รับอิทธิพลของภัยแล้งในปีที่ผ่านมา ประกอบกับเนื้อที่ให้ผลประสบปัญหาน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ต้นปาล์ม ขนาดเล็กเสียหาย อย่างไรก็ตาม ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้สภาพอากาศโดยรวมเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชหลายชนิด ส่งผลให้การผลิตพืชส่วนใหญ่มีทิศทางเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ด้านการส่งออก สินค้าที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว และยางพาราเนื่องจากความต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมีปริมาณส่งออกลดลง แต่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงทั้งปริมาณและมูลค่าเนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ส่วนราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่เพิ่มสูงขึ้น ยกเว้นข้าวนาปีราคาอ่อนตัวลง เนื่องจากความต้องการจากต่างประเทศที่ชะลอลง รวมทั้งความชื้นสูง ทำให้คุณภาพข้าวเปลือกลดลงดังนั้น คาดว่าการผลิตสาขาพืชในครึ่งแรกของปี 2554 จะขยายตัวร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สาขาปศุสัตว์

การผลิตสาขาปศุสัตว์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2553เนื่องจากระดับราคาสินค้าปศุสัตว์โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของสุกร ขณะที่ผลผลิตไก่เนื้อเพิ่มขึ้นจากภาวะการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นและการปลดไก่ออกจำหน่ายเร็วขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด สำหรับการผลิตไข่ไก่เพิ่มขึ้นภายหลังจากสถานการณ์โรคสัตว์ปีกตั้งแต่ปี 2553 อยู่ในสภาวะที่ควบคุมได้ ทำให้แม่ไก่สามารถให้ไข่ได้เพิ่มมากขึ้น ส่วนการผลิตของโค-กระบือจะยังอยู่ในช่วงซบเซาจากการค้าในปีที่ผ่านมาที่มีการส่งออกโคจำนวนมาก และการขายเพื่อการบริโภค รวมทั้งเกษตรกรบางรายหันไปเพาะปลูกพืชแทนการเลี้ยงสัตว์ ทำให้พื้นที่เลี้ยงสัตว์ลดลง อย่างไรก็ตาม จากความต้องการของตลาดที่ยังเพิ่มขึ้น และราคาปศุสัตว์ที่อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับการวางมาตรการควบคุมโรค เร่งฉีดวัคซีนและปรับวิธีการฉีดวัคซันป้องกันเชื้อไวรัส การสนับสนุนมาตรการระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ รวมถึงความช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ของภาครัฐ การแนะนำในการป้องกันการระบาดของโรคระบาดต่าง ๆ ในสัตว์ ส่งผลให้ภาวการณ์ผลิตปศุสัตว์ในภาพรวมดีขึ้น

สาขาประมง

การผลิตสาขาประมงของประเทศไทย ประมาณร้อยละ 80 เป็นการผลิตประมงทะเลซึ่งมีทั้งการเพาะเลี้ยงและการจับตามธรรมชาติ ในส่วนของการเพาะเลี้ยงส่วนใหญ่เป็นการเพาะเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม อีกร้อยละ 20 เป็นการผลิตประมงน้ำจืดโดยส่วนใหญ่เป็นการเพาะเลี้ยงปลานิล กุ้งก้ามกราม ปลาช่อน ปลาดุก เป็นต้น

สำหรับผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไม ในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2554 มีปริมาณ 151.44 พันตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 17.9 เป็นผลจากสถานการณ์น้ำท่วมแหล่งผลิตที่สำคัญในภาคใต้ในช่วงปลายปี 2553 ต่อเนื่องถึงต้นปี2554 สร้างความเสียหายแก่ฟาร์มกุ้งจำนวนมาก ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนทำให้กุ้งโตช้าและมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย นอกจากนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไม่มั่นใจในสภาพอากาศ รวมทั้งยังมีอุปสรรคในเรื่องต้นทุนทางด้านพลังงานและวัตถุดิบในการผลิตอาหารกุ้งที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ชะลอการเลี้ยงออกไป

ส่วนการผลิตประมงน้ำจืด ผลผลิตที่สำคัญมาจากผลผลิตปลานิลที่ได้จากระบบการออกใบกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำของกรมประมง (ใบ MD) ในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2554 มีปริมาณ 1.08 พันตัน ลดลงคิดเป็นร้อยละ 45.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้บ่อและกระชังเลี้ยงปลานิลได้รับความเสียหายจำนวนมากประกอบกับปัญหาสภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงต้นปีส่งผลต่อการเจริญเติบโตของปลานิล นอกจากนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงยังประสบปัญหาในเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้การผลิตสาขาประมงในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 หดตัวลงร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สาขาป่าไม้

การผลิตสาขาป่าไม้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.2 เนื่องจากผลผลิตของป่าที่สำคัญหลายชนิดมีปริมาณเพิ่มขึ้น อาทิ รังนก น้ำผึ้งป่า ไม้ไผ่ และยางไม้ธรรมชาติ โดยเฉพาะรังนกซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 ให้ราชการส่วนท้องถิ่นเข้ามาดูแลและจัดการเก็บรังนกอีแอ่น อันเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นและให้เงินอากรรังนกอีแอ่นเป็นรายได้ของท้องถิ่นได้ สำหรับปริมาณการผลิตและความต้องการใช้ไม้ในภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัวและอุปสงค์ในอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน และไม้ก่อสร้าง ขยายตัวตามไปด้วย

สาขาบริการทางการเกษตร

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 สาขาบริการทางการเกษตรขยายตัวได้ค่อนข้างดีประมาณร้อยละ 6.0 ตามการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูกพืชที่สำคัญ อาทิ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน เนื่องจากแรงจูงใจทางด้านราคา รวมทั้งโครงการประกันรายได้เกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรขยายการผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น

แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2554

เศรษฐกิจภาพรวมของไทยปี 2554 คาดว่ายังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ การใช้จ่ายภายในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกขยายตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อาทิ ความอ่อนไหวด้านการเงินและการคลังในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา และกลุ่มยูโรโซน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจากปัญหาภัยพิบัติ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในตะวันออกกลาง รวมถึงการเคลื่อนย้ายของเงินทุนจากต่างประเทศที่ส่งผลต่อค่าเงินบาท

สำหรับเศรษฐกิจการเกษตรปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.3 - 5.3 เมื่อเทียบกับปี 2553 เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น และราคาสินค้าเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของภาคต่าง ๆ มีมากกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติในช่วงครึ่งหลังของปี รวมถึงราคาน้ำมันที่ค่อนข้างผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2554 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดี จากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น และประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรของโลกลดลง แต่ยังมีความกังวลจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น อาจทำให้ขีดความสามารถในการส่งออกลดลง

สาขาพืช

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 คาดว่าสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดจะมีทิศทางที่ดีขึ้น ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน ได้ฟื้นตัวจากปัญหาภัยพิบัติ ประกอบกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของภาคต่าง ๆ มีมากกว่าปี 2553 ทำให้ผลผลิตสูงขึ้น ส่วนพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ถั่วเหลือง ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงครึ่งปีแรก สำหรับด้านราคาพืชสำคัญ เช่น มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยางพารา และปาล์มน้ำมัน คาดว่าจะยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะยางพาราที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากความต้องการของตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม จากสภาวะภูมิอากาศโลกที่แปรปรวนอาจส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลกได้รับความเสียหาย ทำให้ผลผลิตไม่พอกับความต้องการบริโภคในแต่ละประเทศ จึงคาดว่าในปี 2554 ภาวะการผลิตสาขาพืชจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 6.5 — 7.5

สาขาปศุสัตว์

การผลิตสาขาปศุสัตว์ปี 2554 คาดว่าจะมีการขยายตัวในช่วงร้อยละ 1.3 — 2.3 เมื่อเทียบกับปี 2553 เนื่องจากสถานการณ์การผลิตสินค้าปศุสัตว์ต่างๆ เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งปีหลัง จากที่เคยมีปัญหาโรคระบาดในไก่และสุกร ปัญหาสภาพอากาศร้อน และสถานการณ์น้ำท่วมตั้งแต่ปลายปี 2553 จนถึงช่วงต้นปี 2554 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของไก่เนื้อและสุกร โดยเกษตรกรได้มีการปรับระบบการเลี้ยงให้ดีขึ้น คาดว่าการผลิตจะสามารถทยอยเข้าสู่ภาวะปกติได้ตั้งแต่ช่วงกลางปี ด้านราคาปศุสัตว์โดยเฉลี่ยในปี 2554 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากปี 2553 ตามต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกจะเพิ่มขึ้นตามความต้องการบริโภคทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศที่ยังคงมีอยู่มาก โดยเฉพาะญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป

สาขาประมง

การผลิตสาขาประมงปี 2554 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีก่อนอยู่ในช่วงร้อยละ (-3.5) — (-2.5) ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขประมาณการเมื่อต้นปี เนื่องจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนและปัญหาภัยธรรมชาติ รวมถึงปัญหาโรคระบาดในกุ้งเพาะเลี้ยง ส่งผลให้มีผลผลิตประมงออกสู่ตลาดน้อย

สำหรับประมงทะเลคาดว่าปริมาณผลผลิตจะลดลงจากผลกระทบด้านราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ชาวประมงชะลอการออกทะเล รวมทั้งสภาวะแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมในช่วงปลายปี 2554 คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยในแหล่งผลิตหลักทางภาคใต้ได้รับความเสียหาย ผู้เลี้ยงกุ้งต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูและเตรียมการเพาะเลี้ยงกุ้งอีกระยะหนึ่งทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดไม่ทันในช่วงปลายปี ส่วนประมงน้ำจืดคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น หลังผ่านช่วงฟื้นตัวจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศไทยในปี 2553 แม้ว่าพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดจะได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ หากสภาพแวดล้อมเป็นปกติคาดว่าผลผลิตสัตว์น้ำจืดในปี 2554 จะเพิ่มขึ้นด้านการส่งออกสินค้าประมงมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากผู้ส่งออกมีความกังวลเรื่องการแข็งค่าของเงินบาท ประกอบกับปริมาณผลผลิตที่ลดลงอาจส่งผลให้อุตสาหกรรมแปรรูปประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ แม้ว่าความต้องการเพื่อการส่งออกยังมีอยู่ต่อเนื่อง

สาขาป่าไม้

การผลิตสาขาป่าไม้ปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.8 - 2.8 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.5) — 0.5 เนื่องจากการผลิตไม้และของป่าหลายชนิดยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น อาทิ รังนก น้ำผึ้งป่า ไม้ไผ่หวาย และเครื่องเทศ อีกทั้งความต้องการใช้ไม้ในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มความต้องการใช้ไม้เพื่อการผลิตเฟอร์นิเจอร์ จากการตั้งเป้าหมายสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางตลาดส่งออกเฟอร์นิเจอร์ในเอเชียอย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดปัญหาไฟป่าที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตสาขาป่าไม้ทำให้ลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้

สาขาบริการทางการเกษตร

การผลิตสาขาบริการทางการเกษตรปี 2554 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงร้อยละ2.9 - 3.9 เมื่อเทียบกับปี 2553 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์ดีรวมทั้งโครงการประกันรายได้ของเกษตรกร จูงใจให้เกษตรกรขยายการเพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ