สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ขอนแก่น เผย ผลจากที่จังหวัดมหาสารคามดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำในปี 2554 ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายลดลง มีกลุ่มการผลิต การตลาดเพิ่มขึ้นได้ผลดีโดยได้รางวัลที่ 2 ของประเทศ พร้อมเดินหน้าต่อในปี 2555 สานต่อพื้นที่เดิมโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะคาง และขยายพื้นที่ใหม่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยค้อ
นายบัณฑิต มงคลวีราพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ขอนแก่น (สศข.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการที่ สศข.4 ได้ร่วมบูรณาการโครงการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรกับหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดมหาสารคาม ในปี 2554 โดยดำเนินการในพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยคะคาง อ.เมือง จ.มหาสารคาม ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายลดลง มีกลุ่มการผลิต การตลาดเพิ่มขึ้น และมีกิจกรรมการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งจังหวัดมหาสารคามได้รับรางวัลที่ 2 ของระดับประเทศ และมีแผนจะทำการสานต่อพื้นที่เดิมให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งมีแผนจะขยายพื้นที่ใหม่ที่อ่างเก็บน้ำห้วยค้อ อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม ในปี 2555 ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดย สำนักงานเกษตรจังหวัดและโครงการชลประทานจังหวัด จะดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้ง สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดจะดำเนินกิจกรรมด้านการปรับปรุงบำรุงดินด้วยโดโลไมท์ และพืชปุ๋ยสด สำนักงานประมงจังหวัดจะดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความพร้อมเข้าสู่มาตรฐานฟาร์มโดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเป็นผู้ตรวจรับรอง สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัดดำเนินกิจกรรมสอนการทำบัญชีครัวเรือน สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดดำเนินกิจกรรมหมู่บ้านถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอาหารสัตว์โดยใช้หญ้าเนเปียร์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดจะดำเนินกิจกรรมการเชื่อมโยงด้านการผลิต การตลาดกับโรงพยาบาลมหาสารคามและสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรดำเนินกิจกรรมตรวจรับรองใบ Q ศูนย์วิจัยข้าวดำเนินกิจกรรมการตรวจรับรองแปลง รวมทั้งกิจกรรมตรวจพยากรณ์แมลงศัตรูระบาด
ในการนี้ สศข.4 จะดำเนินกิจกรรมติดตามประเมินผลโครงการพื้นที่รับประโยชน์อ่างเก็บน้ำห้วยคะคาง (พื้นที่เดิม) และสำรวจข้อมูลภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนเกษตรกรเพื่อการติดตามประเมินผลโครงการพื้นที่รับประโยชน์อ่างเก็บน้ำห้วยค้อ (พื้นที่ใหม่) ทั้งนี้ จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายของโครงการ ปี 2554 พบว่าแรงงานในภาคเกษตรส่วนมากเป็นผู้สูงอายุและจำนวนลดน้อยลง ซึ่งอาจเกิดผลกระทบทางด้านการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งยังส่งผลให้ค่าแรงงานภาคเกษตรสูงขึ้น ดังนั้น ควรจะมีการปลูกฝังค่านิยมและสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนสนใจประกอบอาชีพเกษตรให้มากขึ้น และเกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีปัญหาหนี้สินจึงควรหาทางให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบเพื่อให้สามารถนำไปใช้พัฒนาในการประกอบอาชีพด้านเกษตร นายบัณฑิต กล่าว
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--