สศก. ร่วมประชุมคณะมนตรีประศาสน์การครั้งที่ 23 ของ CFC ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

ข่าวทั่วไป Tuesday December 20, 2011 11:42 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมประชุมคณะมนตรีประศาสน์การ กองทุนร่วมเพื่อสินค้าโภคภัณฑ์ ครั้งที่ 23 ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยไทยได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการที่ไทยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก CFC และเสนอให้เน้นการพัฒนาสินค้าที่เป็นอาหารเพื่อสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารของโลก

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่าสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ร่วมประชุมคณะมนตรีประศาสน์การ กองทุนร่วมเพื่อสินค้าโภคภัณฑ์ ครั้งที่ 23 (Twenty-Third Meeting of Governing Council) ระหว่างวันที่ 7-8 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยกองทุนร่วมเพื่อสินค้าโภคภัณฑ์ หรือ Common Fund for Commodities: CFC เป็นองค์กรระหว่างประเทศ จัดตั้งขึ้นภายใต้กรอบการดำเนินงานขององค์การสหประชาชาติ มีสมาชิกจำนวน 105 ประเทศ และ 10 องค์กร CFC ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อพัฒนาสินค้าโภคภัณฑ์และการเข้าถึงตลาด แก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อย ซึ่งการประชุมคณะมนตรีประศาสน์การกำหนดจัดขึ้นปีละ 1 ครั้งเพื่อรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานในรอบปี ให้ประเทศสมาชิกได้รับทราบ รวมทั้งเพื่อขอความเห็นชอบการดำเนินการเรื่องต่างๆ

สำหรับการประชุมดังกล่าวมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมการประชุม จำนวน 57 ประเทศ 3 องค์กร รวมทั้งสิ้นประมาณ 150 คน โดยมี Ms. Zarra Giuseppina ผู้แทนจากประเทศสมาชิกกลุ่ม OECD ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งผู้แทนไทยได้กล่าว statement ในที่ประชุม ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการที่ไทยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก CFC คือโครงการ Improving Bargaining Power and Sustainable Livelihood of Smallholder Dairy Farmers ซึ่งดำเนินการโดยกรมปศุสัตว์ โดยไทยเห็นว่า CFC เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือพัฒนาสินค้าโภคภัณฑ์ และการเข้าถึงตลาด แก่ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศพัฒนาน้อย ดังนั้นในโอกาสที่ CFC กำลังอยู่ในช่วงศึกษาทิศทางและบทบาทการทำงานในอนาคต ไทยจึงสนับสนุนให้คงบทบาทหน้าที่ตามเดิม โดยเสนอให้เน้นการพัฒนาสินค้าที่เป็นอาหารเพื่อสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารของโลก

การประชุมได้พิจารณาประเด็นเรื่องการศึกษาทิศทางและบทบาทการทำงานในอนาคตของ CFC สืบเนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณสำหรับสนับสนุนโครงการมีน้อยลง CFC จึงจำเป็นต้องปรับบทบาทการทำงานโดยการปรับข้อตกลงการก่อตั้งองค์กร (Agreement) ให้มีความเหมาะสมและคล่องตัวในการบริหารมากขึ้น ผนวกกับปรับบทบาทเป็นองค์กรบริหารโครงการและจัดหาแหล่งงบประมาณ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการเลือกตั้ง Managing Director (MD) แทนผู้ดำรงตำแหน่งปัจจุบันที่จะหมดวาระลงในวันที่ 31 สิงหาคม 2555 โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้แต่งตั้งสมาชิก secretariat คือ Mr. Parvindar Singh, Chief Policy, Programme Management and Evaluation Unit ทำหน้าที่รักษาการจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง MD คนใหม่ในการประชุมคณะมนตรีประศาสน์การครั้งต่อไปในเดือนพฤศจิกายน 2555 ทั้งนี้ การเข้าร่วมเป็นสมาชิก CFC ทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์โดยได้รับการสนับสนุนโครงการมาอย่างต่อเนื่องทั้งในกรณีที่ไทยเป็นผู้รับการพัฒนาโดยตรง และเป็นพันธมิตรในการให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลให้ไทยมีบทบาทสำคัญในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ