สศก. เผย เกษตรกรหันปลูกปลูกสัปปะรดโรงงานเพิ่ม หวั่นกระทบราคาและผลผลิตล้นตลาดปลายปีนี้

ข่าวทั่วไป Tuesday December 20, 2011 11:55 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุ เกษตรกรผู้ปลูกสัปปะรดโรงงานใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และพิษณุโลก หันปลูกสัปปะรดเพิ่มขึ้น เหตุจากผลตอบแทนสูงกว่าพืชแข่งขัน คาดปริมาณผลผลิตไตรมาสสุดท้ายของปี 54 ประมาณ 8 แสนตัน และออกสู่ตลาดสูงสุดในเดือนธันวาคมนี้ หวั่นส่งผลราคาของสัปปะรดตกต่ำตามมา แนะภาครัฐ — เอกชน ควรหามาตรการป้องกันและช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงเกษตรกรผู้ปลูกสัปปะรดโรงงาน ในแหล่งผลิตใหญ่ทางภาคกลางและภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดพิษณุโลก ได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกสัปปะรด เนื่องจากได้รับผลตอบแทนสูงกว่าพืชแข่งขัน เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน เป็นต้น อีกทั้งสัปปะรดเป็นพืชที่ดูแลรักษาง่าย ต้องการน้ำน้อย ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บผลผลิตได้ 1-3 ปี และยังสามารถปลูกแซมไม้ยืนต้นในขณะที่ยังมีอายุน้อย เพื่อเป็นรายได้เสริมของเกษตรกร โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ราคาสัปปะรดอยู่ในเกณฑ์ดีมาตลอด คือ ปี 2552 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.00 บาท ส่วนปี 2553 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.33 บาท และปี 2554 ตั้งแต่เดือน มกราคม จนถึงพฤศจิกายน เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 5.08 บาท

ทั้งนี้ จากประมาณการผลผลิตสัปปะรดโรงงาน ปี 2554 มีปริมาณผลผลิตสัปปะรดโรงงานทั้งสิ้น 2.593 ล้านตัน แบ่งออกเป็นใช้อุตสาหกรรมแปรรูปผลิตเพื่อการส่งออกปีละประมาณ 2.3 ล้านตัน ส่วนที่เหลือเป็นการบริโภคภายในประเทศ โดยคาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 จะมีประมาณ 8 แสนตัน เนื่องจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ มีสภาพอากาศเอื้ออำนวย ปริมาณน้ำฝนเพียงพอ เกษตรกรที่ทำการบังคับผลผลิตสามารถเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตสัปปะรดช่วงปลายปีเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดสูงสุดในเดือนธันวาคมจนถึงต้นปี 2555 จึงทำให้ผลผลิตมากกว่าปีก่อน ส่งผลปริมาณผลผลิตรวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้นมาก อาจเกิดปัญหาราคาของสัปปะรดตกต่ำตามมา ซึ่งทางภาครัฐบาลและเอกชนได้เตรียมมาตรการและแนวทางความช่วยเหลือให้แก่เกษตรกร ดังนี้

ระยะเร่งด่วน ให้กรมส่งเสริมการเกษตรทำหนังสือเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีโรงงานแปรรูปสับปะรด โดยขอความร่วมมือให้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง โรงงานแปรรูป กับเกษตรกร เพื่อให้โรงงานแปรรูปรับซื้อสับปะรดในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 4.00 บาท ส่วนกรณีที่จังหวัดที่ไม่มีโรงงานแปรรูปสับปะรด ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี พิษณุโลก เพชรบุรี ให้กรมส่งเสริมการเกษตรโดยเกษตรจังหวัด ประสานงานกับโรงงานแปรรูปในจังหวัดใกล้เคียงเพื่อรับซื้อสับปะรดจากเกษตรกรในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 4.00 บาท นอกจากนี้ ให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวสับปะรดที่มีขนาดและคุณภาพมาตรฐานตามที่โรงงานแปรรูปต้องการ รวมทั้งอย่าเร่งเก็บสับปะรดที่ไม่ได้อายุ (สับปะรดดิบ) และให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรดำเนินการประสานงานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้โรงงานแปรรูปทำ Packing Credit มีระยะเวลา 3 เดือน (ธันวาคม 2554 — กุมภาพันธ์ 2555) โดยคาดว่าจะมีกรอบวงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท

ระยะกลาง ให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการแนะนำให้เกษตรกรจัดทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Contract Farming) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ และให้กรมส่งเสริมการเกษตรและ กรมส่งเสริมสหกรณ์ สนับสนุนให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร นำผลผลิตสับปะรดไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ สุดท้ายคือ ระยะยาว ให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์สับปะรดปี 2553 — 2557 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ