สศก. ลงพื้นที่ ประเมินผลโครงการนำร่อง “นิคมการเกษตร” ใน 7 นิคม

ข่าวทั่วไป Tuesday December 20, 2011 12:15 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. ลงพื้นที่ ประเมินผลโครงการนิคมการเกษตร ซึ่งดำเนินการนำร่องใน 7 นิคม เผยเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก แนะ การขับเคลื่อนโครงการควรมีการบูรณาการทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่ให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. โดยศูนย์ประเมินผล ได้ลงพื้นที่ประเมินผลโครงการนิคมการเกษตร ซึ่งดำเนินการนำร่องในปี 2552 ต่อเนื่องปี 2553 จำนวน 7 นิคม คือ นิคมการเกษตรข้าว ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี จ.ฉะเชิงเทรา จ.ร้อยเอ็ด และ จ.นครศรีธรรมราช นิคมการเกษตรมันสำปะหลัง ได้แก่ จ.จันทบุรี ส่วนนิคมการเกษตรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ จ.ตาก และนิคมการเกษตรปาล์มน้ำมัน ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช รวมพื้นที่ดำเนินการ 40,000 ไร่ เกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการมากถึง 2,211 ราย

ผลการประเมิน พบว่า การดำเนินงานโครงการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นิคมการเกษตรข้าวได้รับประโยชน์จากการพัฒนาแหล่งน้ำมากที่สุด ร้อยละ 70 รองลงมาเป็นนิคมการเกษตรปาล์มน้ำมัน ร้อยละ 67 นิคมการเกษตรมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาแหล่งน้ำเพียงร้อยละ 26 และร้อยละ 13 ตามลำดับ เนื่องจากขาดระบบส่งน้ำเข้าแปลงเกษตร สำหรับการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตรภายหลังมีโครงการ พบว่า นิคมการเกษตรข้าว เกษตรกรร้อยละ 82 นำความรู้จากการปรับปรุงบำรุงดินไปปฏิบัติ และร้อยละ 32 เกษตรกรมีการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกลดลงจาก 34 ก.ก./ไร่ เป็น 24 ก.ก./ไร่ ร้อยละ 21 ใช้ปุ๋ยเคมีลดลงจาก 56 ก.ก./ไร่ เป็น 35 ก.ก./ไร่ นิคมการเกษตรมันสำปะหลัง เกษตรกรร้อยละ 86 และร้อยละ 45 นำความรู้จากการปรับปรุงบำรุงดินและการป้องกันปัญหาจากเพลี้ยแป้งระบาดไปปฏิบัติ โดยการแช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังในน้ำยา อีกร้อยละ 7 ใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังลดลงจาก 845 ท่อนต่อไร่ เป็น 641 ท่อนต่อไร่ ร้อยละ 28 ใช้ปุ๋ยเคมีลดลงจาก 63 ก.ก./ไร่ เป็น 53 ก.ก./ไร่ นิคมการเกษตรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรร้อยละ 81 นำความรู้จากการปรับปรุงบำรุงดินไปปฏิบัติ ร้อยละ 23 ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงจาก 4 ก.ก/ไร่ เป็น 3 ก.ก./ไร่ และใช้ปุ๋ยเคมีลดลงจาก 52 ก.ก./ไร่ เป็น 42 ก.ก./ไร่ นิคมการเกษตรปาล์มน้ำมัน เกษตรกรร้อยละ 96 และร้อยละ 98 นำความรู้จากการปรับปรุงบำรุงดิน และการปรับใช้พันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ไปปฏิบัติ ในภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจ ต่อการดำเนินงานโครงการในระดับค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ สศก.ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ในการคัดเลือกพื้นที่โครงการควรพิจารณาถึงความพร้อมของแหล่งน้ำและระบบชลประทาน รวมทั้งความพร้อมของชุมชนเป็นสำคัญ และในการขับเคลื่อนโครงการควรมีการบูรณาการทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่ให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่ควรขยายพื้นที่โครงการนิคมการเกษตรเพิ่ม แต่เน้นให้ปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

แท็ก เกษตรกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ