สศก. ชูผลการสำรวจแรงงานต่างด้าวภาคเกษตรในจังหวัดตากและสมุทรสาคร

ข่าวทั่วไป Wednesday December 21, 2011 14:05 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. เผยผลสำรวจแรงงานต่างด้าวในในกิจการเกษตรที่สำคัญ จ.ตาก และ จ.สมุทรสาคร พบ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า โดยยังพบปัญหาแรงงานต่างด้าวมักเคลื่อนย้ายไปทำงานในพื้นที่ชั้นในของประเทศ โดยเสนอให้ควรมีการแยกแรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม และมีการกำหนดระยะเวลาในการทำงานหรือการเปลี่ยนงานให้ชัดเจน

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการสำรวจแรงงานต่างด้าวในจังหวัดตากและสมุทรสาครว่า จากการลงพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัด พบว่าในจังหวัดตาก เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดนพม่าที่อำเภอแม่สอด โดยมีแม่น้ำเมยเป็นเส้นกั้นเขตแดนไทยกับพม่าและเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดน และเป็นจังหวัดที่มีผลผลิตทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อทั้งดอกไม้ และผลไม้ ซึ่งวิธีการและช่องทางการหลบหนีเข้าเมืองของคนต่างด้าวมี 3 ช่องทาง คือ ทางบก เดินป่าเข้ามาทางรถยนต์ เมื่อใกล้ถึงด่านจะเดินอ้อมด่านแล้วมีรถมารับ และทางน้ำในฤดูแล้ง ซึ่งแม่น้ำเมยแห้งขอด สามารถเดินข้ามเข้ามาได้ โดยพบว่า อาชีพที่มีผู้ทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ การเกษตรจำนวน 90,578 คน หรือร้อยละ 32 รองลงมา ได้แก่ พนักงานบริการและพนักงานในร้านค้าและตลาด อาชีพขั้นพื้นฐานต่างๆ ในด้านการขายและให้บริการ ธุรกิจการค้า และโรงงาน/เครื่องจักร ตามลำดับ โดยในปัจจุบัน จำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาต จำแนกตามสัญชาติมี 30,390 คน ซึ่งหากพิจารณาตามสัญชาติ พบว่าสัญชาติพม่ามีสัดส่วนถึงร้อยละ 100 หรือ 30,387 คน ขณะที่แรงงานสัญชาติลาว มี 3 คนเท่านั้น

ด้านปัญหาแรงงานต่างด้าวของจังหวัดตาก พบว่า แรงงานต่างด้าวมักจะเคลื่อนย้ายไปทำงานในพื้นที่ชั้นในของประเทศ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในจังหวัดตาก ซึ่งแรงงานที่เข้ามาทำงานจะมีทั้งแบบไปเช้า — เย็นกลับ และแบบประจำ โดยมีที่พักที่นายจ้างจัดให้ ค่าจ้างแรงงานต่างด้าวตกวันละ 100 - 120 บาท ขณะที่แรงงานไทยได้ค่าจ้างวันละ 160 - 200 บาท โดยจังหวัดตากมีนโยบายที่จะนำแรงงานต่างด้าวมาใช้เฉพาะในจังหวัดตากเท่านั้น เนื่องจากจะตั้งเป็นเมืองเศรษฐกิจพิเศษที่แม่สอด เพื่อบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะ

สำหรับการสำรวจการใช้แรงงานต่างด้าวในกิจการเกษตรที่สำคัญของสมุทรสาคร พบว่า จะมีมากในกิจการประมง หรือกิจการแปรรูปสินค้าเกษตร และสวนไม้ดอก ไม้ประดับ เช่น กล้วยไม้ โดยจะเป็นการจ้างแรงงานต่างด้าวแบบถาวร แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่มีพาสปอร์ต หรือไม่ก็ใช้วิธีการต่อทะเบียนอายุใบอนุญาตทำงานทุกปี ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้โดยไม่ได้หักค่าจ้างแรงงาน เนื่องจากจังหวัดสมุทรสาครมีการขยายตัวของภาคการผลิต อุตสาหกรรม ประมง ทำให้ต้องการแรงงานมากขึ้น มีการแย่งแรงงานโดยการแข่งกันให้สวัสดิการหลายรูปแบบของผู้ประกอบการเพื่อให้มีแรงงานใช้อย่างเพียงพอ โดยจังหวัดสมุทรสาครเป็นทั้งจังหวัดเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ประชากรซึ่งเป็นกำลังแรงงานที่อาศัยอยู่ในภาคเกษตรกรรมจะช่วยครัวเรือนในการทำเกษตรเป็นส่วนใหญ่ เมื่อหมดฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตก็จะเคลื่อนย้ายไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมและจะเคลื่อนย้ายกลับมาภาคเกษตรกรรมอีกครั้งในฤดูเพาะปลูก วนเวียนในลักษณะเช่นนี้อย่างเป็นวัฎจักรทุกปี จึงอาจส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในบางฤดูกาล โดยภาคเกษตรจะขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในกิจการประมงทะเล เพราะค่าแรงค่อนข้างต่ำกว่าภาคอุตสาหกรรมและบริการ อีกทั้ง เป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร แรงงานต่างด้าวสามารถเปลี่ยนงานหรือเคลื่อนย้ายแรงงานไปทำงานในกรุงเทพมหานครได้ง่าย แต่ในสวนผลไม้จะเป็นงานตามฤดูกาลสามารถใช้แรงงานแบบหมุนเวียนได้ยังไม่ขาดแคลนแรงงาน อย่างไรก็ตาม จังหวัดสมุทรสาครมีคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานจำนวน 158,650 คน สำหรับแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฏหมายสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานได้ชั่วคราวตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น มีจำนวน 124,454 คน จำแนกเป็นสัญชาติพม่า 120,228 คน คิดเป็นร้อยละ 97 สัญชาติลาว 3,340 คน คิดเป็น ร้อยละ 3 และสัญชาติกัมพูชา 886 คน คิดเป็นร้อยละ 1 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ควรมีการแยกแรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยการระบุอาชีพ/ ลักษณะงานให้ชัดเจน เช่น งานเกษตร/อุตสาหกรรม ห้ามเปลี่ยนงานภายในระยะเวลากำหนดหรือมีการกำหนดระยะเวลาในการทำงานหรือการเปลี่ยนงานให้ชัดเจน โดยให้ทำงานในภาคเกษตรระบุให้ไม่ให้ย้ายงานอย่างน้อย 2 ปี แล้วมีการต่อใบอนุญาตหรือให้ไปรายงานตัว เป็นแบบ One stop service เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าว แต่ก็ต้องระมัดระวังเรื่องความมั่นคง ดังนั้น ต้องหาวิธีการควบคุมแรงงานต่างด้าวไม่ให้มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทยด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ