1.1 การตลาด
1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2553/54
2) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2554/55
2.1) มติ กขช. เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554 และมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 54 รับทราบกรอบ ชนิด ราคา ปริมาณ ระยะเวลา วิธีการ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข การรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ดังนี้
2.2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
(1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ (42 กรัม) ตันละ 20,000 บาท (2) ข้าวเปลือกหอมจังหวัด (40 กรัม) ตันละ 18,000 บาท
(ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 23 จังหวัด)
(3) ข้าวเปลือกปทุมธานี (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท
(4) ข้าวเปลือกเหนียว :-
ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว ตันละ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น ตันละ 15,000 บาท
(5) ข้าวเปลือกเจ้า :-
ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท
ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้างต้นให้ปรับเพิ่ม-ลดตามจำนวนกรัม ในอัตรากรัมละ 200 บาท
2.3) เป้าหมายการรับจำนำ ไม่จำกัดปริมาณข้าวเปลือกที่รับจำนำทั้งโครงการ ส่วนปริมาณข้าวเปลือกที่เกษตรกรแต่ละรายจะจำนำได้ไม่จำกัดจำนวนเช่นกัน โดยต้องเป็นข้าวเปลือกที่เกษตรกรเพาะปลูกเองในปีการผลิต 2554/55 และต้องมีหนังสือรับรองเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งผ่านการทำประชาคม และเกษตรกรลงชื่อรับรองตัวเอง พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร และปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงชื่อรับรองด้วย
2.4) ระยะเวลาดำเนินการ
- ระยะเวลาดำเนินการรับจำนำ 7 ตุลาคม 2554 — 29 กุมภาพันธ์ 2555
(ภาคใต้ 7 ตุลาคม 2554 — 31 กรกฎาคม 2555)
- ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ
- ระยะเวลาโครงการ 7 ตุลาคม 2554 — 30 กันยายน 2555
2.5) ผลการรับจำนำ
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ราคาข้าวส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลงในทุกตลาด เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปี ปี 2554/55 ออกสู่ตลาดมาก ความชื้นสูง เพราะเป็นช่วงฤดูหนาวน้ำค้างแรง ประกอบกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2554/55 มีโรงสีเข้าร่วมโครงการฯ น้อย ไม่เพียงพอ และบางโรงสีไม่สามารถรับข้าวได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากยังไม่ได้สีแปรสภาพส่งโกดังกลาง เพราะรับข้าวเต็มจำนวนวงเงิน เกษตรกรต้องขายให้แก่โรงสีนอกโครงการฯ
จึงถูกกดราคา ส่วนราคาข้าวส่งออกลดลง โดยเฉพาะข้าวนึ่งและข้าวขาว ขณะนี้ไม่มีคำสั่งซื้อในปริมาณมากเข้ามา เนื่องจากผู้นำเข้าหันไปซื้อข้าวจากอินเดียและเวียดนามที่มีราคาถูกกว่าแทน
การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 9 ธันวาคม 2554 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 10.251 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 8.273 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 23.91 (ที่มา : กรมการค้าภายใน)
1.2 ราคา
ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,138 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,169 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.21
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,380 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,671 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.73
ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,606 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,567 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.29
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 16,825 บาท ราคาลดลงจากตันละ 17,400 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 3.30
ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,130 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,946 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,164 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,595 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.92 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 649 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 963 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,781 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 994 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,396 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 3.12 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 615 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 606 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,741 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 631 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,296 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 3.96 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 555 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 588 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,184 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 608 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,593 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 3.29 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 409 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5%ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 596 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,432 บาท/ตัน)
ราคาลดลงจากตันละ 611 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,684 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.45 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 252 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.9257
2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ
2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
1) การผลิต
ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนเบื้องต้นว่าผลผลิตข้าวโลกปี 2554/55 ประจำเดือนธันวาคม 2554 ว่าจะมี 460.836 ล้านตันข้าวสาร (690.3 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 449.817 ล้านตันข้าวสาร (674.5 ล้านตันข้าวเปลือก) ของปี 2553/54 ร้อยละ 2.45 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตของประเทศผู้บริโภคและผู้ส่งออกที่สำคัญของโลก เช่น บังคลาเทศ จีน อียิปต์ อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน และศรีลังกา
2) การค้าข้าวโลก
บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนบัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2554/55
ณ เดือนธันวาคม 2554 ว่าผลผลิต ปี 2554/55 จะมี 460.836 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.45 การใช้ในประเทศจะมี 458.071 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 2.42 การส่งออก/นำเข้าจะมี 32.855 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 5.49 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 99.508 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.86
โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย จีน อียิปต์ อียู อินเดีย และปากีสถาน ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ บราซิล กัมพูชา กายานา ญี่ปุ่น อุรุกวัย เวียดนาม สหรัฐฯ และไทย
สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บราซิล แคนาดา โกตดิวัวร์ ฮ่องกง อิหร่าน อิรัก มาเลเซีย เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บังคลาเทศ จีน คิวบา อียู อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ โมแซมบิค ไนจีเรีย เซเนกัล แอฟริกาใต้ และเวียดนาม
ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินเดีย และเวียดนาม ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา
2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
1) เวียดนาม
สมาคมอาหารของเวียดนาม (The VietNam Food Association; VFA) รายงานว่า ปี 2554 ผลผลิตข้าวในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงทางตอนใต้ (Mekong Delta) ของเวียดนามมีปริมาณ 23 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก ปี 2553 ประมาณ 1.5 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 55 ของผลผลิตข้าวทั้งหมด เนื่องจากเกษตรกรใช้เมล็ดข้าวพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตและคุณภาพสูง สามารถต้านทานแมลง และเหมาะสมต่อระบบนิเวศวิทยา นอกจากนี้เวียดนามยังได้มีการปรับปรุงระบบชลประทานเพื่อให้มีน้ำเพียงพอ และขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวคุณภาพสูง ตรงตามมาตรฐานสากล เพื่อให้มีข้าวคุณภาพออกสู่ตลาดมากขึ้น
ปี 2554 เวียดนามประสบความสำเร็จในการส่งออกข้าว โดยการส่งออกข้าวนับตั้งแต่วันที่
1 ม.ค.- 8 ธ.ค. 2554 มีจำนวน 6.839 ล้านตัน มูลค่า 3,351 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 และร้อยละ 22 ตามลำดับ สำหรับเดือน ธ.ค. 2554 เวียดนามคาดว่าจะส่งออกข้าว 617,000 ตัน ซึ่งทำให้มีปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมด 7.352 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 4.3 และจะมีการลงนามในสัญญาส่งออกเพิ่มเติมในเดือนนี้ โดยบริษัท Vinafood 2 ได้ทำสัญญาขาย เอฟโอบี
ข้าวขาว 5% ให้แก่มาเลเซียจำนวน 300,000 ตัน ราคาประมาณตันละ 520 ดอลลาร์เหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 16,081 บาท/ตัน) มีกำหนดส่งมอบภายในเดือน มี.ค. 2555 ทั้งนี้ ในปีนี้เวียดนามส่งออกข้าวไปมาเลเซียประมาณ 600,000 ตัน
ปี 2555 คาดว่า สถานการณ์อาจจะไม่ดีเหมือนปีนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ตลาดข้าวโลกในปี 2554 ประกอบกับการแข่งขันจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกข้าวราคาต่ำ เช่น อินเดีย ปากีสถาน และพม่า อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของเวียดนาม เนื่องจากราคาส่งออกข้าวจากแหล่งต่างๆ มีความแตกต่างกันมาก ทำให้
ผู้นำเข้าโดยเฉพาะแอฟริกาหันไปนำเข้าข้าวจากอินเดีย ปากีสถาน และพม่า ยกเว้นกรณีสัญญาซื้อขายที่มีการกำหนดคุณภาพและระยะเวลาการส่งมอบ
อนึ่ง ในไตรมาสที่1 ของปี 2555 เวียดนามจะมีข้าวส่งออกประมาณ 1 ล้านตัน เนื่องจากผู้ค้าข้าวคาดว่าจะไม่มีปัญหาเพราะเก็บสำรองไว้จำนวน 1.14 ล้านตัน และรวมกับผลผลิตในฤดูการผลิตที่ 3 (หรือฤดูการผลิตฤดูใบไม้ร่วง autumn-winter) ที่กำลังทยอยเข้าสู่ตลาดในช่วงนี้ สำหรับการส่งออกข้าวหอม เวียดนามคาดว่ายังสามารถแข่งขันได้ทั้งในด้านราคาและคุณภาพ ประกอบกับแหล่งผลิตข้าวหอมของประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยในปี 2554 คาดว่าในปี 2555 ปริมาณผลผลิตจะลดลง ส่งผลให้การส่งออกลดลงตามไปด้วย ซึ่งเวียดนามก็สามารถเข้าไปแทนที่ไทยในตลาดข้าวหอมได้ โดยจีนเป็นตลาดหลักของข้าวหอมเวียดนาม
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์
2) อินเดีย
รัฐมนตรีกระทรวงการอาหาร รายงานว่า อินเดียอาจจะพิจารณาห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติหลังจากที่มีการส่งออกข้าวถึง2 ล้านตันแล้ว ณ วันที่ 28 พ.ย. อินเดียส่งออกข้าวแล้ว 1.1 ล้านตัน โดยคาดว่า
จะขายข้าวครบ 2 ล้านตัน ภายในวันที่ 31 ม.ค. 2555
สำหรับ ปีงบประมาณ 2554/55 คาดว่า อินเดียจะสามารถส่งออกข้าวได้ถึง7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2553/54 ที่คาดว่าจะส่งออกได้ 2.2 ล้านตัน เนื่องจากผลผลิตข้าวในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตข้าวของประเทศคู่แข่งลดลง ทั้งนี้ ณ วันที่ 1 ธ.ค. อินเดียมีสต็อกข้าวในคลังรัฐบาลประมาณ 27 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าความต้องการที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 7.2 ล้านตัน
ที่มา: Riceonline.com
3) ฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์ คาดว่า การเก็บเกี่ยวข้าวในปี 2554 จะเพิ่มขึ้นหลังฟื้นตัวจากพายุไต้ฝุ่น2 ลูกที่พัดถล่ม ส่งผลให้ในปี 2555 โดยสำนักงานอาหารแห่งชาติคาดว่าจะไม่ต้องจัดซื้อข้าวเพื่อชดเชยภาวะขาดแคลน สำหรับ
การนำเข้าข้าว ปี 2554 มีจำนวน 947,987 ตัน คิดเป็นหนึ่งในสามของปริมาณการนำเข้าข้าวในปี 2553
รัฐมนตรีเกษตรฟิลิปปินส์ รายงานว่า ปี 2555 จะนำเข้าข้าวอย่างน้อย 500,000 ตัน ซึ่งรัฐบาลจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนนำเข้าได้ครึ่งหนึ่งของปริมาณทั้งหมด ที่เหลือเป็นการนำเข้าโดยกลุ่มเกษตรกรจากประเทศกัมพูชา พม่า และเวียดนาม
ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 12 - 18 ธันวาคม 2554--