1.1 การตลาด
โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2554/55
1) มติ กขช. เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554 และมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 54 รับทราบกรอบ ชนิด ราคา ปริมาณ ระยะเวลา วิธีการ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข การรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ดังนี้
2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้
(1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ (42 กรัม) ตันละ 20,000 บาท (2) ข้าวเปลือกหอมจังหวัด (40 กรัม) ตันละ 18,000 บาท
(ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 23 จังหวัด)
(3) ข้าวเปลือกปทุมธานี (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท
(4) ข้าวเปลือกเหนียว :-
ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว ตันละ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น ตันละ 15,000 บาท
(5) ข้าวเปลือกเจ้า :-
ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท
ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้างต้นให้ปรับเพิ่ม-ลดตามจำนวนกรัม ในอัตรากรัมละ 200 บาท
3) เป้าหมายการรับจำนำ ไม่จำกัดปริมาณข้าวเปลือกที่รับจำนำทั้งโครงการ ส่วนปริมาณข้าวเปลือกที่เกษตรกรแต่ละรายจะจำนำได้ไม่จำกัดจำนวนเช่นกัน โดยต้องเป็นข้าวเปลือกที่เกษตรกรเพาะปลูกเองในปีการผลิต 2554/55 และต้องมีหนังสือรับรองเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งผ่านการทำประชาคม และเกษตรกรลงชื่อรับรองตัวเอง พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร และปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงชื่อรับรองด้วย
4) ระยะเวลาดำเนินการ
- ระยะเวลาดำเนินการรับจำนำ 7 ตุลาคม 2554 — 29 กุมภาพันธ์ 2555
(ภาคใต้ 7 ตุลาคม 2554 — 31 กรกฎาคม 2555)
- ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ
- ระยะเวลาโครงการ 7 ตุลาคม 2554 — 30 กันยายน 2555
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ราคาข้าวมีแนวโน้มลดลงในทุกตลาด เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปี ปี 2554/55 ออกสู่ตลาดมาก และความชื้นสูง ประกอบกับช่วงนี้ไม่มีคำสั่งซื้อเพิ่มเติมจากต่างประเทศ เนื่องจากใกล้วันหยุดยาวช่วงเทศกาลคริสต์มาส การซื้อขายจึงมีไม่มากนัก
การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 19 ธันวาคม 2554 ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 10.393 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 8.589 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 21.00 (ที่มา : กรมการค้าภายใน)
1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,880 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,927 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.30
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,867 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,950 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.64
ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,724 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,606 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.87
2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 16,230 บาท ราคาลดลงจากตันละ 16,825 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 3.54
3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,117 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,689 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,130 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,946 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.15 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 257 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 933 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,975 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 963 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,781 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 3.12 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 806 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 574 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,826 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 606 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,741 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 5.28 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 915 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 574 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,826 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 588 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,184 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.38 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 356 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5%ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 595 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,478 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 596 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,432 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.17 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 46 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.0554
สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
1) เวียดนาม
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรเวียดนาม คาดว่า ปี 2555 ผลผลิตข้าวจะมีประมาณ 42 ล้านตัน ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศมีประมาณ 27.33 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการกรมเพาะปลูก กระทรวงเกษตร (Crops Department) คาดว่า การปลูกข้าวช่วงฤดูหนาว-ใบไม้ผลิ (winter — spring) ที่ล่าช้าอาจส่งผลให้ปริมาณข้าวที่ผลิตได้ในปี 2555 ลดลงเหลือ 41 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 1.2
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการทั่วไปบริษัทวินห์ พัต อินเวสเมนท์ คอร์ปอเรชั่น(Vinh Phat Investment Corporation)กล่าวเพิ่มเติมว่า เวียดนามเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากไทย โดยในปี 2553 เวียดนามเริ่มส่งออกข้าวนึ่งไปหลายประเทศในยุโรปตะวันออก แอฟริกา และเอเชีย ซึ่งมียอดส่งออกกว่า 10,000 ตัน ราคาเฉลี่ย 570 ดอลลาร์สหรัฐฯ /ตัน (หรือประมาณ 17,702 บาท/ตัน) และข้าวนึ่งของเวียดนามมีคุณภาพค่อนข้างสูง ทำให้มีความได้เปรียบประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอย่างอินเดีย และ ปากีสถาน
การผลิตข้าวนึ่งนอกจากจะเพิ่มความหลากหลายและคุณภาพข้าวของเวียดนามแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเพาะปลูกข้าวเปียกในช่วงฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วงอีกด้วย ประกอบกับการส่งออกข้าวนึ่งได้ราคาสูงกว่าข้าวขาวหัก 5% ประมาณ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯ /ตัน (หรือประมาณ 1,553-1,863 บาท/ตัน) โดยการส่งออกข้าวนึ่งของเวียดนามในปี 2554 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของอุปสงค์ทั่วโลก ถึงแม้การส่งออกข้าวนึ่งจะได้ราคาสูงกว่า แต่ผู้ผลิตยังคงลังเลที่จะลงทุน เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่าการสีข้าวขาว อนึ่ง สมาคมอาหาร (VFA) รายงานว่า บริษัท Vinafood 2 (The Viet Nam Southern Food Corporation) จะเสร็จสิ้นการก่อสร้างโรงงานผลิตข้าวนึ่งเพื่อการส่งออก อีก 3 แห่ง กำลังการผลิต 300,000 ตัน/ปี โดยจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2555 ในขณะที่เป้าหมายการส่งออกส่วนที่เหลือจะมาจากการผลิตของบริษัทเอกชน
สำหรับปี 2555 เวียดนามวางแผนเพิ่มการส่งออกข้าวนึ่งประมาณ 400,000 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 300,000 ตัน ในปี 2554 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.33 หรือคิดเป็น 1 ใน 3)
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรเวียดนาม คาดว่า หากการส่งออกมีปริมาณลดลงขณะที่ผลผลิตยังทรงตัวเท่าเดิม จะทำให้ ปี 2555 เวียดนามมีข้าวสำรองเป็นจำนวนมาก อาจส่งผลให้ราคาข้าวภายในประเทศลดลง ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่พยายามลดอัตราเงินเฟ้อในปี 2555
ที่มา Riceonline.com
2) อินเดีย
รัฐบาลอินเดียอนุญาตให้ส่งออกข้าวขาวจำนวน10,000 ตัน ไปยังประเทศเคนยา โซมาเลีย และจิบูติ ในราคาประมาณตันละ 20,689 รูปี หรือประมาณ 387 ดอลลาร์สหรัฐฯ /ตัน (ประมาณ 12,018 บาท/ตัน) โดยองค์การอาหาร (Food Corporation of India; FCI) เป็นผู้ดำเนินการ
อนึ่ง คณะกรรมการธัญพืชอิรัก (The Iraqi Grain Board) ปฏิเสธตัวอย่างข้าวขาว 5% ของอินเดีย หลังการประมูลขายข้าวให้รัฐบาลอิรัก 30,000 ตัน ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในรอบสองเดือน อาจทำให้ที่อิรักหันไปซื้อข้าวจากแหล่งอื่นแทน
ที่มา Riceonline.com
3) บังคลาเทศ
ปีงบประมาณ 2554/55 จนถึง ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2554 บังคลาเทศนำเข้าข้าวรวมทั้งสิ้น 439,700 ตัน (เป็นการนำเข้าของรัฐบาลร้อยละ 91) จาก ปี 2553 ซึ่งนำเข้าปริมาณ 513,100 ตัน (เป็นการนำเข้าของรัฐบาลร้อยละ 62) ลดลงร้อยละ 14.3
สำหรับสต็อกข้าวรัฐบาล ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2554 มีปริมาณ 1.442 ล้านตัน ทำให้บังคลาเทศจะไม่นำเข้าข้าวไปอีก 6 เดือน จนถึงมิถุนายน 2555 เนื่องจากขณะนี้มีสต็อกข้าวมาก ประกอบกับในช่วง 9 เดือนก่อน มีการนำเข้าในปริมาณมาก ประกอบกับผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเพราะในฤดูที่ผ่านมาได้ผลผลิตดีเกินเป้าหมาย
ที่มา Riceonline.com
4) ฟิลิปปินส์
ปี 2555 รัฐบาลได้รับงบประมาณกว่า 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพียงพอที่จะใช้ในโครงการสนับสนุนการผลิตข้าว โดยกำหนดเป้าหมาย 18.6 ล้านตันข้าวเปลือก
อนึ่ง รัฐบาลตั้งเป้าที่จะพึ่งพาผลผลิตข้าวในประเทศให้ได้ภายในปี 2556 และจะสามารถส่งออกข้าวได้ภายในปี 2557
ที่มา Riceonline.com
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 19 - 25 ธันวาคม 2554--