สศก. ลงพื้นที่ศึกษาการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในนิคมการเกษตร

ข่าวทั่วไป Thursday December 29, 2011 13:15 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก.ศึกษาวิสาหกิจชุมชนในนิคมการเกษตรในพื้นที่ นครศรีธรรมราช สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา ร้อยเอ็ด และจังหวัดสุรินทร์ พบ วิสาหกิจชุมชนมีสมาชิกเฉลี่ย 20 ราย/กลุ่ม กิจกรรมที่กลุ่มดำเนินการมักเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมหลักของแต่ละนิคม ด้านเงินทุนมาจากการระดมทุนและค่าหุ้นของสมาชิก

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ให้มีอาหารพอเพียงและปลอดภัยโดยการปรับโครงสร้างการผลิตทางการเกษตรและส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยมีการจัดตั้งนิคมการเกษตรซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 ปัจจุบันมีจำนวน 20 แห่ง ในพื้นที่ 15 จังหวัด ซึ่งกิจกรรมหลักที่ดำเนินการ คือ การผลิตพืชอาหารและพืชพลังงาน 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย ปาล์มน้ำมัน และสินค้าประมง โดยทิศทางการพัฒนาในพื้นที่นิคมการเกษตรจะมุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง ส่งเสริมวิธีคิดองค์ความรู้ การจัดตั้งและพัฒนากลุ่ม/องค์กรเกษตรกร สร้างรายได้ลดรายจ่ายตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูปโดยกระบวนการทั้งหมด เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน และวิสาหกิจชุมชนเป็นอีกแนวทางหนึ่งของการพัฒนาแบบผสมผสานที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง โดยเน้นการพัฒนาคน การมีส่วนร่วมของสมาชิก ทำการผลิตหรือจัดการทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นและพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียง

          ในการนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ศึกษาวิสาหกิจชุมชนในนิคมการเกษตรในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา ร้อยเอ็ด และจังหวัดสุรินทร์  พบว่า วิสาหกิจชุมชนมีสมาชิกเฉลี่ย 20         ราย/กลุ่ม กิจกรรมที่กลุ่มดำเนินการมักเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมหลักของแต่ละนิคม เช่น ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การประมง  การเลี้ยงสัตว์ และสิ่งทอ  ส่วนรายได้จากการประกอบกิจกรรมวิสาหกิจชุมชนเป็นเพียงรายได้เสริม  ใช้วัตถุดิบในพื้นที่และใช้แรงงานจากสมาชิกกลุ่มเป็นหลัก ด้านเงินทุนมาจากการระดมทุนและค่าหุ้นของสมาชิก จำหน่ายผลผลิตภายในชุมชนมากกว่าร้อยละ 90  ส่วนด้านการตลาด พบว่าช่องทางตลาดยังมีน้อย

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้มีนโยบายในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและพื้นที่นิคมการเกษตร โดยควรสนับสนุนการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนให้ได้มาตรฐาน สนับสนุนเงินทุนและปัจจัยการผลิต การเข้าถึงข้อมูลด้านการตลาด โดยประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเพิ่มช่องทางการจำหน่าย นอกจากนี้ เพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนสู่ความเข้มแข็ง จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้สมาชิกรู้จักบทบาทองค์กร การมีส่วนร่วม เช่น การเสนอความคิดเห็นในการดำเนินกิจกรรมและการบริหารจัดการ สร้างกฎระเบียบต่างๆ ภายในวิสาหกิจชุมชนที่มีความเหมาะสม และการหาแนวทางเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ