กระทรวงเกษตรฯ พร้อมรับมือปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ

ข่าวทั่วไป Friday January 6, 2012 10:45 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เกษตรฯ เตรียมพร้อมมาตรการแก้ไขปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ ตามที่ สศก. เสนอโครงการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาสับปะรด โดยคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มีมติเห็นชอบโครงการเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 54 แล้ว เผย ปี 55 เตรียมส่งเสริมและพัฒนากลุ่มผู้ปลูกสับปะรด โดยเน้นการถ่ายทอดความรู้การผลิตสับปะรดที่ถูกต้องเหมาะสม หนุนการทำ Contract Farming และการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางแผนแก้ไขปัญหาสับปะรดแล้ว โดยระยะเร่งด่วน จัดทำเป็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างเกษตรกรและโรงงานแปรรูปสับปะรด เพื่อรับมือผลผลิตล้นตลาดในช่วงนี้ ซึ่ง คชก. เห็นชอบสนับสนุนเงินทุน 1,000 ล้านบาท ผ่าน ธ.ก.ส. ชดเชยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 เพื่อทำ Packing Credit ให้แก่โรงงานแปรรูปที่ทำ MOU รับซื้อสับปะรดจากเกษตรกรในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 4.00 บาท ส่วนระยะปานกลาง ต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพ รวมถึงกระจายสับปะรดให้ออกสู่ตลาดสม่ำเสมอ

สำหรับการการผลิตสับปะรดปี 2554 พบว่า มีผลผลิต 2.59 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 31 เนื่องจากเกษตรกรขยายพื้นที่ปลูก ประกอบกับสภาพอากาศในปี 2554 เอื้ออำนวย ผลผลิตต่อไร่จึงเพิ่มสูงขึ้นจาก 3.30 ตัน ในปี 2553 เป็น 4.01 ตัน ใน ปี 2554 โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน — ธันวาคม 2554 ผลผลิตออกมาก มีปริมาณ 0.60 ล้านตัน ออกสู่ตลาดประมาณวันละ 11,000 — 12,000 ตัน ขณะที่โรงงานแปรรูปมีกำลังการผลิตวันละ 10,000 ตัน ทำให้มีผลผลิตส่วนเกิน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาหดตัวลง และวิกฤติหนี้สาธารณะของยูโรโซน ทำให้การสั่งซื้อผลิตภัณฑ์สับปะรดล่วงหน้าชะลอตัวลง มีผลให้ราคาสับปะรดที่เกษตรกรขายได้ตกต่ำ ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยผู้แทนเกษตรกร ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูป และหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยขอความร่วมมือให้โรงงานแปรรูปสับปะรดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่ไม่มีการทำข้อตกลงซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า (Contract Farming) ในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 4.00 บาท และได้ขอเงินสนับสนุนจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่โรงงานที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งขณะนี้มีโรงงานแปรรูปสับปะรดในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทำ MOU แล้ว 11 โรงงาน

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มีมติเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2554 เห็นชอบโครงการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาสับปะรด ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เสนอ โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสนับสนุนเงินทุนจำนวน 1,000 ล้านบาท ให้แก่โรงงานแปรรูปสับปะรดที่ทำ MOU เพื่อทำ Packing Credit ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 — กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่ง คชก. จะชดเชยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ให้แก่โรงงานแปรรูป โดยให้โรงงานแปรรูปรับซื้อสับปะรดจากเกษตรกรที่ไม่มีการทำข้อตกลงซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า (Contract Farming) ในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 4.00 บาท นอกจากนี้ ภาครัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวสับปะรดที่มีขนาดและคุณภาพมาตรฐานตามที่โรงงานแปรรูปต้องการ

อย่างไรก็ตาม ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำในช่วงต่อไป กระทรวงเกษตรฯ จะเน้นความสำคัญในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การผลิตสับปะรดที่มีคุณภาพ การกระจายผลผลิตให้มีปริมาณที่สม่ำเสมอในแต่ละเดือน การรวมกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรและโรงงานแปรรูป จัดทำข้อตกลงซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า (Contract Farming) ซึ่งในปี 2554 ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดทั่วประเทศ 20 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด เชียงราย ลำปาง อุตรดิตถ์ พิษณุโลก อุทัยธานี ตราด หนองคาย นครพนม เลย และชุมพร เพื่อเป็นการนำเกษตรกรเข้าสู่ระบบการผลิต และส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มผู้ปลูกสับปะรด และในปีงบประมาณ 2555 จะดำเนินการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มผู้ปลูกสับปะรด ได้แก่ การถ่ายทอดความรู้การผลิตสับปะรดที่ถูกต้องเหมาะสม (GAP) สนับสนุนการทำ Contract Farming การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง เป็นต้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ