สศข.7เผย ปัญหาอุทกภัยส่งผลเกษตรกรและผู้ประกอบการได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ แนะ เร่งปรับระบบการปลูกข้าวนาปีให้สามารถเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้นในพื้นที่ใต้เขื่อนเจ้าพระยาเพื่อทำเป็นพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำนองและชะลอน้ำหลาก โดยเกษตรกรต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ พร้อมหนุน แนวทางประกันความเสี่ยงให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการด้วยการเปิดตลาดซื้อขายตราสารอนุพันธ์ ซึ่งอ้างอิงกับปริมาณน้ำฝนหรือปริมาณระดับน้ำในเขื่อนตามแนวทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นางจันทร์ธิดา มีเดช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 (สศข.7) ชัยนาท สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่เกิดสถานการณ์อุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ในพื้นที่จังหวัดรับผิดชอบของ สศข. 7 ซึ่งอยู่ในภาคกลาง และประสบปัญหาอย่างรุนแรง ส่งผลเกษตรกรและผู้ประกอบการทางการเกษตรธุรกิจได้รับผลกระทบกันเป็นลูกโซ่ และมีแนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งขึ้น หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ได้ร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งในระยะเร่งด่วน ที่ต้องเร่งปรับระบบการปลูกข้าวนาปีให้สามารถเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้นในพื้นที่ใต้เขื่อนเจ้าพระยาเพื่อทำเป็นพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำนองและชะลอน้ำหลาก โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอสรรพยา อำเภอ สรรค์บุรี จังหวัดชัยนาท และอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี โดยเกษตรกรต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจวางแผนเลือกรูปแบบและช่วงเวลาเพาะปลูกที่เหมาะสม ขณะเดียวกันจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือ ชดเชยความเสียหายให้กับเกษตรกรเป็นกรณีพิเศษสำหรับพื้นที่ที่เป็นแหล่งรองรับน้ำ และการแก้ปัญหาในระยะยาว ที่จะต้องร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศน์ เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และกำหนดแผนบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ นางจันทร์ธิดายังให้ข้อคิดเห็นถึงแนวทางที่จะประกันความเสี่ยงให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการทางการเกษตรด้วยการเปิดตลาดซื้อขายตราสารอนุพันธ์ซึ่งอ้างอิงกับปริมาณน้ำฝนหรือระดับน้ำในเขื่อนของ ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า นับเป็นแนวคิดที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นที่น่าสนใจและเป็นเรื่องดี เพราะคาดว่า ตราสารนี้จะสามารถป้องกันความเสี่ยงให้ภาคธุรกิจได้มากโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม อย่างไรก็ตามจะต้องชี้แจงให้นักลงทุนมีความเข้าใจ หรือเข้าถึงข้อมูลที่สามารถใช้เป็นข้อบ่งชี้ทิศทางและแนวโน้มในการซื้อขายได้ต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--