กองทุน FTA ติวเข้มการก้าวสู่การเป็น AEC จุดเปลี่ยนที่ภาคเกษตรต้องรับมือ

ข่าวทั่วไป Friday January 27, 2012 14:02 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

กองทุน FTAพร้อมรับมือการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AECในปี 2558จัดเวทีสัมมนาแจงผลกระทบที่เกษตรกรไทยต้องรู้ เผย การก้าวสู่การเป็น AEC ไทยได้ประโยชน์จากตลาดที่ใหญ่ขึ้น และการลงทุนระหว่างประเทศอย่างเสรี แต่อาจกระทบกลุ่มสินค้าเกษตรที่ยังขาดศักยภาพในการแข่งขัน ที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศสมาชิกในอาเซียน

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “กองทุน FTA : เตรียมพร้อมเกษตรกรไทยสู่ AEC” ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ (ฮอลล์ 2) โรงแรมเชียงใหม่ แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หรือกองทุน FTA ว่า จากการที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ (ASEAN Economic Community: AEC) ภายในปี 2558 ซึ่งวัตถุประสงค์สำคัญของการรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อให้อาเซียนกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน โดยมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานฝีมือได้อย่างเสรี มีมาตรฐานสินค้า กฎเกณฑ์ กฎระเบียบเดียวกัน ซึ่งจะทำให้อาเซียนมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น โดยอาเซียนได้กำหนด 12 สาขาอุตสาหกรรมที่จะดำเนินการเป็นลำดับแรกภายใต้แนวคิดตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน ได้แก่ เกษตร ประมง ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์ไม้ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ การขนส่งทางอากาศ สุขภาพ อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (e-ASEAN) การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ รวมทั้งความร่วมมือในสาขาอาหาร เกษตรและป่าไม้ ดังนั้น การรวมเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันของอาเซียน จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายการผลิตในภูมิภาค เสริมสร้างศักยภาพของอาเซียนในการเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก โดยประเทศสมาชิกได้ร่วมกันดำเนินมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอาเซียน เช่น การยกเลิกภาษีศุลกากรให้หมดไป การทยอยยกเลิกอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี ปรับประสานพิธีการด้านศุลกากรให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทางธุรกรรม เป็นต้น

สำหรับการเข้าร่วมเป็น AEC มีผลกระทบสำหรับประเทศไทย คือ ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากตลาดที่ใหญ่ขึ้น ด้วยจำนวนประชากรในอาเซียนที่รวมกันกว่า 580 ล้านคน ด้านการลงทุนระหว่างประเทศสามารถดำเนินการได้อย่างเสรี โดยสามารถย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่เหมาะสมจะเป็นแหล่งผลิตได้ หรือจะใช้ประโยชน์จากการเป็นฐานการผลิตร่วม แต่ในขณะเดียวกันไทยอาจเสียประโยชน์ในกลุ่มสินค้าที่ไม่มีศักยภาพในการแข่งขัน โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งหลายชนิดสินค้ามีต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศสมาชิกในอาเซียน ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมรับมือการแข่งขันจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เพราะประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 9ประเทศ (มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า) นั้น นอกจากจะเป็นพันธมิตรทางการค้ากับไทยแล้ว อีกมุมหนึ่งยังเป็นคู่แข่งของไทยด้วย

ทั้งนี้ กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หรือ กองทุน FTA จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าในการปรับโครงสร้างการผลิต ปฏิรูปผลิตผลทางการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพและแปรรูปสินค้าเกษตร ตลอดจนการปรับเปลี่ยนการผลิตจากสินค้าที่ไม่มีศักยภาพสู่สินค้าที่มีศักยภาพ โดยกองทุน FTAได้ดำเนินงานตามพันธกิจดังกล่าวมาโดยตลอด ซึ่งผลการดำเนินงานนับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน กองทุน FTA ได้ให้การสนับสนุนเงินผ่านหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการนำไปดำเนินโครงการเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าแล้ว 15 โครงการ 8 ชนิดสินค้า ได้แก่ โคเนื้อ โคนม สุกร ชา กาแฟ ปาล์มน้ำมัน กระเทียม และข้าว คิดเป็นวงเงิน 626.60 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุน FTA สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าทุกกรอบการค้าได้มากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าทุกชนิดสินค้า ได้รับทราบแนวทางการช่วยเหลือของกองทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกโควตาและลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 ตามพันธะสัญญาภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ตลอดจนการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ดังนั้น จึงได้จัดให้มีการสัมมนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ทราบถึงผลกระทบ ตลอดจนแนวทางการให้ความช่วยเหลือของกองทุนต่อไป รองเลขาธิการ กล่าว.

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ