จ.ชลบุรี รับลูก ลง MOU ร่วม 3 ฝ่าย ช่วยเกษตรกร แก้ปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ

ข่าวทั่วไป Friday January 27, 2012 14:05 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศข.6 ชู จ.ชลบุรี พร้อมสนองมาตรการแก้ไขปัญหาสับปะรดแบบเร่งด่วน เร่งทำ MOU ร่วม 3 ฝ่าย ทั้งภาครัฐ โรงงาน และเกษตรกร หวังช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ ให้ขายได้ในราคาไม่ต่ำกว่า กก.ละ 4.00 บาท เผย โครงการมีระยะเวลารับซื้อผลผลิต 3 ธ.ค. 2554 — 29 ก.พ. 2555 และระยะเวลาโครงการ 1 ธ.ค. 2554 — 31 พ.ค. 2555

          นายพลเชษฐ์  ตราโช  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 (สศข.6) ชลบุรี เปิดเผยว่า ตามที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วางแผนแก้ไขปัญหาสับปะรด โดยมีแผน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน  จัดทำเป็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างเกษตรกร โรงงานแปรรูปสับปะรด และภาคราชการเพื่อรับมือผลผลิตล้นตลาดในช่วงธันวาคม 54 — กุมภาพันธ์ 55  ระยะปานกลาง ต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพ รวมถึงกระจายสับปะรดให้ออกสู่ตลาดสม่ำเสมอ และ ระยะยาว  ให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์สับปะรดปี 2553 — 2557 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ ไปแล้วนั้น ในส่วนระยะเร่งด่วน ซึ่ง สศก.เสนอได้โครงการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาสับปะรด        ต่อคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) และมีมติเห็นชอบโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2554  โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนวงเงินกู้ยืมจำนวน 1,000 ล้านบาท ให้แก่ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปสับปะรดที่ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อทำ Packing Credit  ซึ่ง คชก. จะชดเชยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ระยะเวลา 3 เดือน โดยผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปจัดทำ MOU ในเรื่องการกำหนดราคารับซื้อสับปะรดขั้นต่ำ ในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 4.00 บาท กับเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด และภาคราชการ  โดยมีกำหนดช่วงระยะเวลารับซื้อผลผลิตระหว่าง 3 ธ.ค. 2554 — 29 ก.พ. 2555 ส่วนระยะเวลาโครงการระหว่าง 1 ธ.ค. 2554 — 31 พ.ค. 2555

ในการนี้ จังหวัดชลบุรี จึงได้ร่วมดำเนินการตามแผนระยะเร่งด่วน โดยทำ MOU 3 ฝ่าย เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2555 ซึ่งในส่วนฝ่ายราชการนำโดย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และเกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด การค้าภายในจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ส่วนฝ่ายโรงงาน จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริษัทอาหารสยาม จำกัด (มหาชน) และ บริษัทไพร์ม โพรดักส์ อินดัสทรีส์ จำกัด และฝ่ายเกษตรกร ได้แก่ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดชลบุรี ประธานและรองประธานกลุ่มผู้ปลูกสับปะรดจังหวัดชลบุรี ซึ่ง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 พร้อมกับสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัดชลบุรี สื่อมวลชน และเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในจังหวัดชลบุรี ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ นายพลเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์สับปะรดของจังหวัดชลบุรี ปี 2554 ว่า ปัจจุบันมีพื้นที่เก็บเกี่ยว 31,680 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 2 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 7 หรือประมาณ 1.86 แสนตัน โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมาก 2 ช่วง คือเดือนพฤษภาคม — มิถุนายน และช่วงเดือนพฤศจิกายน — ธันวาคม ซึ่งในส่วนของเกษตรกรจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือเกษตรกรที่ทำสัญญาข้อตกลงการซื้อขายล่วงหน้ากับโรงงานแปรรูป (Contract farming) ที่มีประมาณร้อยละ 80 ของจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดจังหวัดชลบุรีที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรี โดยเกษตรกรรูปแบบนี้จะไม่มีปัญหาเรื่องราคาผลผลิต ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 20 จะมีปัญหาเรื่องสถานที่จำหน่ายและราคาผลผลิต (ราคาประมาณ กก.ละ 2.50 — 3.00 บาท) ดังนั้น การทำ MOU ในครั้งนี้จะครอบคลุมเกษตรกรที่มีปัญหาช่วยให้ขายได้ในราคาไม่ต่ำกว่า กก.ละ 4.00 บาท อย่างไรก็ตาม จากผลผลิตใน จ.ชลบุรี ที่เริ่มลดลง ทางผู้แทนเกษตรกรได้เสนอให้พิจารณาขยายระยะเวลาออกไปในคลอบคลุมถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่สอดรับกับผลผลิตออกสู่ตลาดมาก และจะทำให้โครงการนี้สัมฤทธิ์ผลมากขึ้นด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ