จังหวัดนครสวรรค์ เปิดงานรณรงค์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการลดต้นทุนการผลิตข้าว ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวและสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนา รองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน (AFTA) มุ่งพัฒนาศักยภาพชาวนาชั้นนำ ส่งเสริมการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี
นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 2 พิษณุโลก (สศข.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังร่วมงานรณรงค์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการลดต้นทุนการผลิตข้าว ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวและสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนา เพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน (AFTA)เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย)เป็นประธาน ณ ศูนย์ข้าวชุมชนหลัก หมู่ที่ 3 บ้านดงมัน ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ มีเกษตรกรเข้าร่วมงานประมาณ 500 คน รูปแบบการจัดงาน แบ่งเป็น 6 สถานี ได้แก่ ภาพรวมโครงการ, หมู่บ้านชุมชนต้นแบบ, ศูนย์เครื่องจักรกล (เครื่องดำนา เครื่องถอดเพาะกล้า เครื่องปรับปรุงเมล็ดพันธุ์), ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน, การแปรรูปเพื่อเพิ่มผลผลิตและการพัฒนาที่ดินผลิตภัณฑ์ชีวะภัณฑ์
สำหรับการดำเนินโครงการ จะคัดเลือกหมู่บ้านชุมชนต้นแบบและเลือกเทคโนโลยีที่สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าว มีการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้และสาธิตการใช้เทคโนโลยี การจัดทำบัญชี จัดนักวิชาการพบเกษตรกรเพื่อให้คำแนะนำและแก้ไขปัญหา การจัดงานแสดงผลงาน เทคโนโลยีที่นำมาใช้ ได้แก่ การใช้เมล็ดพันธุ์ดีจากแหล่งที่เชื่อถือได้ การปรับปรุงบำรุงดิน การเตรียมดินให้ถูกวิธี วิธีการปลูกและอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ การป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน การใช้ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำ
ในการนี้ สศข.2 ได้ลงพื้นที่สำรวจผลการดำเนินงานในพื้นที่รับผิดชอบ ณ ชุมชนต้นแบบหมู่ที่ 3 บ้านดงมัน ต.จันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ พบว่า ส่วนใหญ่เกษตรกรในชุมชน นิยมทำนาหว่านน้ำตม 97%และพันธุ์ข้าวที่ใช้มากที่สุด คือ พันธุ์ปทุมธานี 61% รองลงมา คือ พันธุ์สุพรรณบุรี 24% และผลจากการดำเนินโครงการหมู่บ้านต้นแบบฯ โดยใช้เทคโนโลยีการลดต้นทุนภายใต้โครงการฯ ดังกล่าว ทั้งการลดเมล็ดพันธุ์ การลดใช้สารเคมีโดยการใช้สารชีวะภัณฑ์ การลดปุ๋ยเคมีโดยการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมตามการวิเคราะห์ดิน การใช้อัตราตามคำแนะนำและใส่ปุ๋ยช่วงเวลาที่เหมาะสม การลดแรงงาน และการเพิ่มศักยภาพการให้ผลผลิต โดยให้เกษตรกรใช้พันธุ์ข้าว กข 31เปรียบเทียบกับแปลงเกษตรกรทั่วไป พบว่าให้ผลผลิตในระดับที่ใกล้เคียงกัน โดยสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อไร่ได้ร้อยละ 18 และช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อตันได้ร้อยละ 17 เมื่อเปรียบเทียบกับแปลงทั่วไป และพบว่า แปลงที่ใช้เทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิตมีกำไรเหนือต้นทุน คิดเป็นร้อยละ 194 ส่วนแปลงเกษตรกรทั่วไปมีกำไรเหนือต้นทุนที่ร้อยละ 144
ทั้งนี้ การจัดงานดังกล่าว สืบเนื่องจากในปี 2558 ประเทศไทยจะเข้าร่วมเปิดการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ จึงได้จัดทำโครงการหมู่บ้านต้นแบบ การลดต้นทุนการผลิตข้าวภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวและสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนา เพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน (AFTA) เพื่อพัฒนาและปรับใช้องค์ความรู้การปลูกและการใช้ปัจจัยกาผลิตข้าวรวมทั้งการดูแลรักษาและเพื่อเป็นต้นแบบการผลิตข้าวที่สามารถลดต้นทุนในพื้นที่และขยายผลสู่พื้นที่ใกล้เคียง โดยดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 2 ภาค 5 จังหวัดได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครสวรรค์ อุบลราชธานี และสุรินทร์ ) ภาคกลาง 2 จังหวัด (อ่างทองและนครสวรรค์) ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อย่างน้อยตันละ 1,000 บาท และสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวได้ร้อยละ 20 โดยคาดว่าจะดำเนินการขยายผลหมู่บ้านชุมชนต้นแบบอย่างน้อย 50 หมู่บ้าน ภายในปี 2555 นายชวพฤฒ กล่าว
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--