สศข.4 เผย ข้าวราคาดี เกษตรกรอีสานตอนกลาง หันทำนาปรังเพิ่มขึ้น

ข่าวทั่วไป Wednesday February 22, 2012 13:29 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศข. 4 ติดตามสถานการณ์พืชฤดูแล้งเขตภาคอีสานตอนกลาง 4 จังหวัด เผย ปีนี้เกษตรกรหันลงทุนปลูกพืชฤดูแล้งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวนาปรัง เหตุจากราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้นจากนโยบายรับจำนำของรัฐบาล จึงจูงใจเกษตรกรหันปลูกเพิ่ม เตือนเกษตรกรวางแผนการใช้น้ำอย่างรอบคอบ

นายบัณฑิต มงคลวีราพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ขอนแก่น (สศข.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)กล่าวถึงการติดตามสถานการณ์พืชฤดูแล้งในเขตภาคอีสานตอนกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และ ร้อยเอ็ด ซึ่งพบว่า ในปีนี้เกษตรกรมีการลงทุนเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะข้าวนาปรัง ซึ่งมีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 - 5 จากพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้นจากนโยบายรับจำนำของรัฐบาล และมีการปลูกทดแทนในพื้นที่น้ำท่วม

โดยจากผลการติดตามสถานการณ์ คาดว่า ข้าวนาปรังในปีนี้จะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3 - 5 ให้ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 650 — 670 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับพืชฤดูแล้งชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วเหลืองรุ่น 2 และถั่วเขียวรุ่น 2 ในปีนี้ คาดว่าเกษตรกรจะปลูกเพิ่มขึ้นแต่ไม่มากนัก ส่วนการเจริญเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดีอากาศเอื้ออำนวย ไม่มีปัญหาโรคและแมลงระบาด เหมือนปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าฤดูแล้งปีนี้ ผลผลิตถั่วเหลืองรุ่น 2 และถั่วเขียวรุ่น 2 จะเพิ่มขึ้น โดยมีผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 280 กิโลกรัมและ 80 กิโลกรัม ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 3 - 5

ส่วนสถานการณ์ ถั่วลิสงรุ่น 2 ของจังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม คาดว่า ปีนี้เกษตรกรจะปลูกลดลง เนื่องจากหันไปปลูกข้าวนาปรัง ส่วนที่จังหวัดร้อยเอ็ดและกาฬสินธุ์ พบว่า ปีนี้เกษตรกรปลูกถั่วลิสงเพิ่มขึ้นจากปีที่ ผ่านมา เนื่องจากราคาดี จึงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูก สำหรับผลผลิตถั่วลิสงในฤดูแล้งนี้ คาดว่าน่าจะลดลง เนื่องจากในช่วงปลูกใหม่สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย มีอากาศหนาวเย็นกระทบต่ออัตราการงอก และยังเกิดโรคโคนเน่า ใบหงิก ซึ่งทำให้การเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง

นายบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม การปลูกพืชฤดูแล้งปัญหาที่สำคัญ ได้แก่ ปริมาณน้ำไม่เพียงพอในช่วงฤดูการเพาะปลูก โดยเฉพาะในช่วงติดดอก ออกผล ซึ่งทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ หรือได้ปริมาณน้อย เกษตรกรจึงอาจประสบปัญหาขาดทุน ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งของการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรจึงควรมีการวางแผนแรผลิตอย่างรอบคอบ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ