สศข. 5 สานต่อโครงการบูรณาการเขตเกษตรเศรษฐกิจฯ ดึงเทคโนโลยีประยุกต์ ดินดานลด ผลผลิตเพิ่ม

ข่าวทั่วไป Tuesday March 6, 2012 11:44 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศข.5 เดินหน้าสานต่อโครงการนำร่องต้นแบบบูรณาการเขตเกษตรเศรษฐกิจเพื่ออาหาร พลังงาน และอุตสาหกรรม มันสำปะหลัง จ.นครราชสีมา จับมือทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมการไถระเบิดดินดานในแปลงมันสำปะหลังของเกษตรกรตามโครงการในพื้นที่ มุ่งคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายในการใช้พลังงานทดแทน (E85) เพิ่มเติมจากปีที่ผ่านมา หวังกระจายโอกาสให้ครอบคลุมในกลุ่มอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง โดย สศข.5 จะติดตามประเมินผลโครงการฯ ต่อไป

นายสมโสถติ์ ดำเนินงาม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 5 นครราชสีมา (สศข.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการดำเนินงานโครงการนำร่องต้นแบบบูรณาการเขตเกษตรเศรษฐกิจเพื่ออาหาร พลังงาน และอุตสาหกรรม มันสำปะหลัง จังหวัดนครราชสีมา (ปี 2553 — 2556) ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง 3 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน และภาคเอกชนที่เข้าร่วม เช่น บริษัท สงวนวงษ์อุตสากรรม จำกัด และบริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด โดยโครงการดังกล่าวได้มีการเปิดตัวขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2553 จากการตะหนักถึงความต้องการพลังงานทดแทนที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ในขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรยังใช้เพื่อเป็นพืชอาหารเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องหาทางเพิ่มปริมาณผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต และได้เลือกมันสำปะหลังซึ่งเป็นหนึ่งในพืชพลังงานทดแทน และเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ทั้งด้านอาหาร และพลังงาน และคัดเลือกจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดนำร่อง เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีการปลูกมันสำปะหลังมากที่สุดของประเทศไทย

โดยเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 5 นครราชสีมา (สศข.5) ได้ร่วมกับหน่วยงานคณะทำงานโครงการบูรณาการฯ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สหกรณ์การเกษตรจักราช บริษัทสงวนวงษ์อุตสาหกรรมจำกัด และ บริษัทคูโบต้าคอร์ปอเรชั่นจำกัด ดำเนินการจัดกิจกรรมต่อเนื่องจากปี 2554 โดยจัดกิจกรรมการไถระเบิดดินดานในแปลงมันสำปะหลังของเกษตรกรตามโครงการในพื้นที่ อำเภอจักรราช จ.นครราชสีมา โดยมีการดำเนินงานในหลากหลายส่วน ประกอบด้วย การบริหารและจัดการโครงการ หน่วยงานบูรณาการได้ร่วมทำการสำรวจพื้นที่เป้าหมายเบื้องต้น โดยใช้ฐานข้อมูลการผลิตมันสำปะหลังของสหกรณ์การเกษตรจักราช และคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายในการจัดทำแปลงต้นแบบการจัดการดินดาน ซึ่งพบว่า พื้นที่การปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรมีการเกิดดินดาน โดยสามารถสังเกตจากอาการของต้นมันสำปะหลัง คือ ใบร่วง และยืนต้นแห้งตาย การจัดทำแปลงต้นแบบการผลิต ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา (ศวพ.) กรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการ ได้ทำการจัดทำแปลงต้นแบบการจัดการดินดาน โดยได้มีการเก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพเบื้องต้น พร้อมทั้งคัดเลือกเกษตรกรต้นแบบ ทั้งนี้ ได้ดำเนินการไถระเบิดดินดาน และเตรียมพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังตามกรรมวิธี

การพัฒนาเกษตรกร ได้มีการจัดอบรม และสาธิตการจัดการดินดานในแปลงมันสำปะหลัง รวมทั้งเตรียมงานวันเก็บเกี่ยวผลผลิตแปลงต้นแบบการจัดการดินดานซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในเดือน มีนาคม 2555 นี้ ส่วนการดำเนินการจัดการ เรื่องการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ตลอดเดือนกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมาในทั้งหมด 32 อำเภอ ของจังหวัดนครราชสีมา ศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดนครราชสีมา ได้มีการจัดการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร ทั้งสิ้น 5,745 ราย ประกอบด้วยวิธีการ ใช้สารเคมีแช่ท่อนพันธุ์ การใช้แมลงศัตรูธรรมชาติควบคุมเพลี้ยแป้ง ได้แก่ แมลงช้างปีกใส และแตนเบียน ซึ่งขณะนี้ มีพื้นที่ที่มีการระบาดของเพลี้ยแป้งประมาณ 8,853 ไร่ รวมเกษตรกรที่ประสบปัญหาทั้งสิ้น 767 ราย

สำหรับแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ ในปี 2555 ทาง ศวพ. จะดำเนินการโครงการจัดการดินดานในแปลงมันสำปะหลัง และจัดการทำแปลงต้นแบบการผลิตมันสำปะหลังในพื้นที่โครงการฯ โดยจัดการอบรมและสาธิตการจัดการดินดานในแปลงมันสำปะหลัง ในพื้นที่โครงการฯ โดยการนำเอาเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ดินดานเป้าหมาย มีการอบรมเกษตรกรต้นแบบและเครือข่าย ในหลักสูตร “การจัดการดินดานเพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง” ภายใต้แนวคิด “ดินดานลดผลผลิตเพิ่ม” รวมทั้งการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช (เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง) โดยจัดการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรในโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย การใช้สารเคมีแช่ท่อนพันธุ์ การใช้แมลงศัตรูธรรมชาติควบคุมเพลี้ยแป้ง เช่น แมลงช้างปีกใส และ แตนเบียน ซึ่งทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 5 จะทำการติดตามประเมินผลโครงการฯ เพื่อให้ทราบถึงผลของโครงการฯ

ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน ในปี 2555 จะมีการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายในการใช้พลังงานทดแทน (E85) เพิ่มเติมจากปีที่ผ่านมา เพื่อกระจายโอกาสและให้ครอบคลุมในกลุ่มอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง และมีการจัดประชุมและสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักในการเป็นพันธมิตรธุรกิจ ตลอดจนการให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องของการบริหารจัดการกลุ่มอุตสาหกรรม รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรธุรกิจ (Cluster D evelopment Agent : CDA)

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ