ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ประมง

ข่าวทั่วไป Friday March 9, 2012 14:02 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ

การผลิต

กุ้งไทยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ดร. วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมงกล่าวถึงการเลี้ยงกุ้งในปัจจุบันว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำหลักการปฏิบัติที่ดีด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล ซึ่งเป็นมาตรฐานแห่งชาติมาใช้ในการรับรองมาตรฐานฟาร์ม มาตรฐานดังกล่าวครอบคลุมทุกขั้นตอนในการปฏิบัติระดับฟาร์ม รวมถึงการเก็บเกี่ยวและการดูแลหลังการเก็บเกี่ยวก่อนการขนส่งออกจากฟาร์ม โดยคำนึงถึงหลักการต่างๆ เพื่อให้ได้กุ้งทะเลที่มีคุณภาพที่ดี ปลอดภัยต่อการบริโภคมีระบบการเลี้ยงที่คำนึงถึงสุขภาพของสัตว์ การรักษาสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งเป็นหลักการของมาตรฐานสากล อีกทั้งกุ้งที่ส่งออกไปยังต่างประเทศต้องมาจากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน จึงสามารถส่งออกได้

สำหรับการทำฟาร์มในประเทศไทย จะต้องจดทะเบียนฟาร์มกับกรมประมงและต้องมีเอกสารสิทธิในที่ดินอย่างถูกต้อง ดังนั้น จึงไม่สามารถทำฟาร์มกุ้งในเขตป่าชายเลนหรือพื้นที่อนุรักษ์ได้ อีกทั้งเกษตรกรจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมของไทย โดยจากข้อมูลพบว่า พื้นที่ป่าชายเลนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับผลผลิตกุ้ง เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลมีความเข้าใจเกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้ง แบบยั่งยืน โดยการเลี้ยงกุ้งในป่าชายเลนนั้นไม่เหมาะสม เพราะตามหลักวิชาการพบว่า การเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนาใน ป่าชายเลนเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต เพราะดินในเขตป่าชายเลนมีลักษณะเป็นกรด ทำให้กุ้งไม่เจริญเติบโต ประกอบกับในบริเวณดังกล่าวยังมีรากต้นไม้ ตอไม้ ส่งผลให้บ่อรั่ว ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ และด้วยเหตุผลสนับสนุนที่ว่าป่าชายเลนยังเป็นพื้นที่ซึ่งเป็นแนวกันคลื่นลมและสามารถช่วยดูดซับสารอินทรีย์จากการเลี้ยงกุ้งไม่ให้ไปทำลายสิ่งแวดล้อมอื่นๆ หากป่าชายเลนถูกทำลายก็เท่ากับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ถูกทำลายไปด้วย เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งส่วนใหญ่จึงตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวและให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลนด้วยการจัดกิจกรรมปลูกป่าชายเลนกันอย่างต่อเนื่อง ด้านความปลอดภัยทางอาหาร ทางกรมประมงมีโปรแกรมเฝ้าระวังและติดตามการตกค้างของยาปฏิชีวนะในฟาร์มกุ้งทะเล โดยมีการตรวจติดตามทุกฟาร์มอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ก่อนการส่งออกกุ้งไปยังต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์กุ้งจำเป็นต้องมีการตรวจสารตกค้าง และยาปฏิชีวนะ เพื่อให้ได้ใบรับรองคุณภาพสัตว์น้ำ ในการยืนยันว่าผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยปลอดภัย ไร้สารตกค้าง กระทั่งเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา จึงไม่พบการตีกลับสินค้าจากสหภาพยุโรปอันเนื่องมาจากพบยาปฏิชีวนะเกินระดับที่กำหนดเลย ในส่วนของบ่อเลี้ยง น้ำที่สูบออกมาจากฟาร์ม

เลี้ยงกุ้งปัจจุบัน จะมีการส่งไปยังบ่อบำบัด เพื่อตกตะกอน และปรับสภาพน้ำให้สามารถนำกลับมาใช้ได้ หรือเป็น การเลี้ยงในระบบปิดน้ำหมุนเวียน เพื่อช่วยในการป้องกันโรคระบาดในบ่อกุ้งมายังฟาร์มของตน

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 —15 ม.ค. 2555) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,105.96 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 485.74 ตัน สัตว์น้ำจืด 620.22 ตัน

ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่

          1.1  ปลาดุก              ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                  2.46    ตัน
          1.2  ปลาช่อน             ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                  3.76    ตัน
          1.3  กุ้งทะเล             ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                 86.64    ตัน
          1.4  ปลาทู               ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                  8.02    ตัน
          1.5  ปลาหมึก             ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                 80.38    ตัน

การตลาด

ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ

2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 41.67 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 42.03 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.36 บาท

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคา

2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 76.05 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 105.71 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 120.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 14.29 บาท

2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 144.39 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 147.54 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 3.15 บาท

สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 140.83 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 147.50 บาท ของสัปดาห์ก่อน 6.67 บาท

2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 35.61 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 32.61 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 3.00 บาท

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 78.57 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 75.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 3.57 บาท

2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 82.67 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 89.33 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 6.66 บาท

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 180.00 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 183.33 บาท ของสัปดาห์ก่อน 3.33 บาท

2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.16 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 25 ก.พ. — 2 มี.ค. 2555) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 25.54 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 25.40 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.14 บาท

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 27 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2555--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ