สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ชูผลประเมินโครงการส่งเสริมและพัฒนาชุมชนต้นแบบ ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดสระแก้ว เผย โครงการฯ มุ่งส่งเสริม 3 กิจกรรม เน้นส่งเสริมความรู้และให้เกษตรกรมีทางเลือก แนะชุมชนต้องร่วมมือกันในการบริหารจัดการ
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ลงพื้นที่จังหวัดสระแก้วเพื่อประเมินผลโครงการส่งเสริมและพัฒนาชุมชนต้นแบบ ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ด้านการเกษตร) ที่ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรได้มีการพัฒนาอาชีพ สามารถเพิ่มรายได้ในครัวเรือน จากการผลิตพืชที่หลากหลายชนิดเพิ่มขึ้น ตลอดจนเยาวชนในชุมชนได้บริโภคผลผลิตทางการเกษตรจากศูนย์เรียนรู้เกษตรในโรงเรียน และจากการประเมินผล พบว่า โครงการนี้มีประโยชน์ต่อเกษตรกร คือ ในอดีตเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรเชิงเดี่ยว คือ การทำนา ซึ่งโครงการได้เข้าไปส่งเสริมใน 3 กิจกรรมหลักด้วยกัน ได้แก่
บ้านเกษตรสมบูรณ์ ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการประกอบอาชีพทางการเกษตรมากขึ้น จากการเพาะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และเลี้ยงปลา ส่งผลให้ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร 1,252 บาทต่อปี เกิดการประหยัดรายจ่ายจากการนำผลผลิตมาบริโภคในครัวเรือน 1,722 บาทต่อปี
ศูนย์เรียนรู้การเกษตรผสมผสานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงชุมชน เน้นการถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตร และมีการลงมือปฏิบัติจริงในแปลงเรียนรู้ ทำให้สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนในชุมชนได้ และผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำความรู้กลับไปดำเนินการต่อที่บ้านของตนเอง ซึ่งผลจากการฝึกปฏิบัติในแปลงเรียนรู้ เกษตรกรสามารถรวมกลุ่มกันขายผลผลิตได้ 67,779 บาทต่อปี และนำรายได้ร้อยละ 30 มาจัดสรรให้กับสมาชิกกลุ่มตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ
ศูนย์เรียนรู้เกษตรในโรงเรียน สามารถที่จะเป็นแหล่งผลิตผลผลิตป้อนเข้าสู่โครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนได้ 4,535 บาทต่อปี และโรงเรียนมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต 18,935 บาทต่อปี นอกจากนี้ นักเรียนยังสามารถใช้ประโยชน์จากศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ เป็นพื้นที่เรียนรู้วิชาด้านการเกษตรได้
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะที่ได้จากการลงพื้นที่ในเบื้องต้น พบว่า เกษตรกรมีแหล่งอาหารบริโภคพอเพียงในครัวเรือน แต่หากนำไปจำหน่ายภายในชุมชนจะไม่มีการซื้อขายมากนัก เนื่องจากทุกครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการมีผลผลิตคล้ายคลึงกัน จึงจำเป็นต้องจำหน่ายนอกชุมชน ซึ่งต้องพึ่งพ่อค้าภายนอกมารับซื้อผลผลิต นอกจากนี้ การพัฒนายังจำเป็นต้องให้ความสำคัญพื้นฐานกับการแก้ไขและปรับปรุงดิน และพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชน โดยชุมชนร่วมกันจัดการต่อไป นางนารีณัฐ กล่าวในที่สุด
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--