อุทกภัยส่งผลภาวะ ศก. ไตรมาสแรก หดตัว สศก. คาดปี 55 ขยายตัวร้อยละ 4.0 — 5.0

ข่าวทั่วไป Monday March 26, 2012 10:25 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ประมาณการภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ไตรมาสแรก ปี 55 เผย หดตัวลงประมาณร้อยละ 1.5 จากผลกระทบอุทกภัยครั้งรุนแรงในช่วงปี 54 ส่งผลต่อเนื่องต้นปี 2555 ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 55 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 - 5.0 เมื่อเทียบกับปี 2554 เนื่องจากปรับตัวได้ดีขึ้นตามลำดับ

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประมาณการภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2555 พบว่า หดตัวลงประมาณร้อยละ 1.5 จากผลกระทบอุทกภัยครั้งรุนแรงในช่วงปี 2554 ส่งผลต่อเนื่องมายังต้นปี 2555 โดยเมื่อจำแนกเป็นรายสาขา พบว่า สาขาพืช อัตราการเจริญเติบโตในไตรมาส 1 ปี 2555 หดตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปีบางส่วนได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2554ประกอบกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ประสบภัยน้ำท่วมได้เลื่อนการเพาะปลูกข้าวนาปรังออกไป ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลผลิตข้าวนาปรังจะทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงไตรมาส 2 สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผลผลิตลดลงเช่นกัน เพราะเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว และเกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ดูแลรักษาง่ายและให้ผลตอบแทนดีกว่า ส่วนมันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ถั่วเหลือง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลจากราคาที่มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ดีในช่วงปีที่ผ่านมา จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิต ด้านราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน ยกเว้นหัวมันสำปะหลังสดคละ ยางพาราดิบชั้น 3 และผลปาล์มน้ำมัน ที่ราคาหดตัวลง ตามความต้องการของตลาดโลกที่ชะลอลง ส่งผลต่อเนื่องมายังราคาภายในประเทศให้อ่อนตัวลง

สาขาปศุสัตว์ การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2554 เนื่องจาก ไก่เนื้อ มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น เป็นผลจากฟาร์มเลี้ยงบางส่วนในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ผู้ประกอบการสามารถระบายสต็อกเนื้อไก่ที่ต้องเก็บไว้ในช่วงน้ำท่วมออกสู่ตลาดได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความต้องการบริโภคเนื้อไก่ในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน และการเกิดโรคไข้หวัดนกของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ความต้องการเนื้อไก่จากไทยเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับปริมาณการผลิตไข่ไก่เพิ่มขึ้น เนื่องจากแม่ไก่ไข่ยืนกรงรุ่นใหม่ให้ผลผลิตมากขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนการเปิดเสรีการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ขณะที่การผลิตน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำนมดิบ ส่วนผลผลิตสุกรลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และโรคทางระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ ประกอบกับพื้นที่เลี้ยงสุกรบางพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยในช่วงปีที่ผ่านมา สำหรับด้านราคาสินค้าปศุสัตว์ สุกรและน้ำนมดิบ มีราคาสูงขึ้น โดยราคาสุกรเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปริมาณสุกรที่ออกสู่ตลาดลดลง ส่วนราคาไก่เนื้อและไข่ไก่ แม้จะมีทิศทางลดลง แต่ก็ไม่มากนักเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ประกอบกับนโยบายรณรงค์การบริโภคไข่ไก่ของรัฐบาล และความพยายามในการขยายการส่งออกทั้งไก่เนื้อและไข่ไก่เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถรักษาระดับปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ความเข้มงวดของการใช้มาตรการควบคุมโรค เร่งฉีดวัคซีน ปรับวิธีการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส การแนะนำในการป้องกันการระบาดของโรค รวมถึงความช่วยเหลือในการฟื้นฟูและดูแลฟาร์มแก่เกษตรกรผู้เลี้ยง ปศุสัตว์ของภาครัฐ ส่งผลให้สถานการณ์การผลิตปศุสัตว์ขยายตัวเพิ่มขึ้น

สาขาประมง ภาวะการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 เป็นผลมาจากสถานการณ์ในแหล่งผลิตสำคัญในภาคใต้เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ประกอบกับราคาผลผลิตกุ้งเพาะเลี้ยงที่อยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2554 จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิตและดูแลรักษาดีขึ้น ทำให้ผลผลิตประมงทะเลที่สำคัญ คือ กุ้งทะเลที่ได้จากการเพาะเลี้ยง มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 13.6 ส่วนผลผลิตด้านประมงน้ำจืดที่สำคัญ คือ ปลานิล ปริมาณผลผลิตจากระบบการออกใบกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำ (MD) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านราคากุ้งขาวแวนนาไมปรับตัวสูงขึ้น โดยเป็นผลมาจากผลผลิตกุ้งของโลกลดลง เพราะประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย ประสบปัญหาภัยธรรมชาติและโรคระบาด ทำให้ความต้องการเพื่อการส่งออกยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเกษตรกรมีการวางแผนการผลิตที่ดีขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาราคากุ้งขาวตกต่ำ ทำให้ราคากุ้งแนวโน้มดีขึ้น

สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.1 เป็นผลจากกิจกรรมการให้บริการเตรียมดินในการเพาะปลูกข้าวนาปรัง รวมถึงการขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโรงงานในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีการใช้บริการเก็บเกี่ยวโดยรถตัดอ้อยมากขึ้น และสาขาป่าไม้ ในไตรมาส 1 ขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณไม้ที่ทำออกจากป่าปลูกเพื่อป้อนอุตสาหกรรมไม้แปรรูปและใช้ในการก่อสร้างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการใช้เป็นส่วนประกอบของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและเฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย รวมทั้งไม้เศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ยูคาลิปตัส มีการปลูกเพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 - 5.0 เมื่อเทียบกับปี 2554 แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 ภาคเกษตรจะยังคงหดตัวจากผลกระทบน้ำท่วมในปี 2554 แต่คาดว่าจะสามารถปรับตัวได้ดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคเกษตรยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น โรคระบาด ภัยแล้ง และปัญหาอุทกภัย ทั้งนี้ ระบบการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลที่ดีขึ้น จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกก็มีความผันผวนมากขึ้น อาทิ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางจากปัญหาหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรป อาจทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยชะลอตัวลง โดยเมื่อจำแนกเป็นรายสาขา พบว่า สาขาพืช ในภาพรวมคาดว่ามูลค่าการผลิตในสาขาพืชเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 4.9— 5.9 ซึ่งช่วงต้นปี 2555 แม้ว่าการผลิตข้าวยังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอยู่บ้าง รวมทั้งหลายพื้นที่ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบกับสภาพอากาศที่แห้งแล้ง แต่การผลิตในสาขาพืชไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากภาวะแห้งแล้งอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรงและเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่นาน คาดว่าในปี 2555 มูลค่าการผลิตสาขาพืชจะเพิ่มขึ้น โดยผลผลิตพืชหลัก เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และปัญหาการแพร่ระบาดของศัตรูพืชลดลง สำหรับด้านราคา คาดว่าราคาพืชส่วนใหญ่จะยังอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ นโยบายของรัฐบาลในการรับจำนำพืชสำคัญบางชนิด เช่น ข้าว และมันสำปะหลัง จะส่งผลให้ราคาพืชดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้น

สาขาปศุสัตว์ การผลิตสาขาปศุสัตว์ปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 1.5 — 2.5 เนื่องจากสถานการณ์การผลิตสินค้าปศุสัตว์ต่าง ๆ เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ เกษตรกรสามารถฟื้นฟูและปรับระบบการเลี้ยงได้ดีขึ้น รวมทั้งการให้คำแนะนำจากภาครัฐในการแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานฟาร์ม กระบวนการควบคุมและเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ความต้องการบริโภคทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศยังคงมีอยู่มากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลัก นอกจากนี้ ประเทศไทยจะได้รับการชดเชยโควตาส่งออกสัตว์ปีกไปยัง EU เพิ่มขึ้น จากการปรับเปลี่ยนระบบโควตา ระบบภาษีของ EU ในเดือนมีนาคม 2555 และมีแนวโน้มการประกาศยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยไป EU ในสิ้นเดือนมิถุนายน 2555 สำหรับราคาปศุสัตว์โดยเฉลี่ยในปี 2555 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้น การรักษาระดับผลผลิตที่ออกสู่ตลาด และการพัฒนาคุณภาพที่ดีขึ้น

สาขาประมง การผลิตสาขาประมงปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2554 อยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 — 1.5 เนื่องจากราคาผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการดูแลและมีการวางแผนการผลิตที่ดี เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด อีกทั้งหากสภาพอากาศไม่แปรปรวนเหมือนปีที่ผ่านมา คาดว่าผลผลิตประมงทะเลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับประมงน้ำจืดหากสถานการณ์เป็นปกติ คาดว่าผลผลิตสัตว์น้ำจืดในปี 2555 จะเพิ่มขึ้นตามการสนับสนุนส่งเสริมของกรมประมง

สาขาบริการทางการเกษตร คาดว่า มีแนวโน้มขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.4 - 2.4 เนื่องจากเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวมากขึ้น ภายหลังสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลาย รวมถึงพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการใช้บริการทางการเกษตรในการไถพรวนดิน การยกร่อง และการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นด้วย และสาขาป่าไม้ ปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.3 — 2.3 เนื่องจากการปลูกไม้เศรษฐกิจที่สำคัญเพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายตัวอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ เฟอร์นิเจอร์ และการก่อสร้าง เพื่อการฟื้นฟูที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการภายหลังวิกฤติน้ำท่วม ส่งผลให้มีการทำไม้ออกจากป่าปลูกเพิ่มขึ้น

             อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร ปี 2555
          สาขา                     ทั้งปี           ไตรมาส 1
          ภาคเกษตร              4.0 — 5.0          -1.5
             พืช                 4.9 - 5.9          -3.0
             ปศุสัตว์              1.5 - 2.5           0.5
             ประมง              0.5 - 1.5           1.9
             บริการทางการเกษตร   1.4 - 2.4           2.1
             ป่าไม้               1.3 - 2.3           1.2
          ที่มา:  ประมาณการโดยสำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
          --สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ