เกษตรฯ จับมือ มก. และ กระทรวงไอซีที ลงนามร่วมมือโครงการประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียม SMMS

ข่าวทั่วไป Monday March 26, 2012 10:28 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

กระทรวงเกษตรฯ จับมือ กระทรวงไอซีที และ มหาวิทยาลัยเกษตรฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียมในการประมาณเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตพืชเศรษฐกิจ โดยนำข้อมูลดาวเทียม SMMS บันทึกข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกแบบต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาการพยากรณ์ผลผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่ม มากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ต่อไป

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ทำการพัฒนาการจัดทำข้อมูลการเกษตรให้มีคุณภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) ในการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลการเกษตร การสำรวจข้อมูลผลผลิตต่อไร่โดยวิธีการตั้งแปลงเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมทั้งการจัดทำข้อมูลพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเชิงลึกที่เป็นเอกภาพ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตร จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขับเคลื่อนให้การจัดทำและการเผยแพร่ข้อมูลการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีเอกภาพ และคุณภาพมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการกำหนดนโยบาย และการวางแผนการพัฒนาการเกษตรต่อไป

การประยุกต์ใช้ข้อมูลการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) ในการสำรวจข้อมูลการเกษตร ได้แก่ ข้อมูลภาพถ่ายออร์โธสี และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งข้อมูลภาพถ่ายออร์โธสี หมายถึงข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศที่ได้ทำการปรับแก้ และขจัดความคลาดเคลื่อนจากการเอียงของภาพและความสูงต่ำของภูมิประเทศ ให้มีความถูกต้องซึ่งเรียกว่า ภาพถ่ายออร์โธโฟโต (Orthophoto) หรือภาพออร์โธ โดยถ้าเป็นภาพสีจะเรียกว่าภาพออร์โธสี ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ดำเนินการจัดทำข้อมูลแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินจากภาพถ่ายออร์โธสีในมาตราส่วน 1:4,000 ทั้งประเทศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลเชิงพื้นที่อ้างอิงสำหรับการสำรวจข้อมูลการเกษตร ซึ่งการพยากรณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรนับวันจะมีความสำคัญสำหรับการวางแผนกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ปริมาณผลผลิตที่เหมาะสมในการกำหนดหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเกษตรกรในด้านต่างๆ ดังนั้น ความน่าเชื่อถือของข้อมูลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยการพยากรณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปัจจุบัน ได้ใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติ (Econometric Model) ที่นำปัจจัยต่างๆ มาวิเคราะห์ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ ราคา ต้นทุนการผลิต นโยบายภาครัฐ นโยบายภาคเอกชน ภาวะการแข่งขันของสินค้า การพิจารณาบัญชีสมดุล (Balance Sheet) แนวโน้มการผลิต ภาวะภัยธรรมชาติ การสำรวจภาวะการผลิตแบบเร่งด่วน (Rural Rapid Appraisal) และแหล่งข้อมูลอื่นๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้พยายามปรับปรุงและพัฒนาวิธีการดำเนินงานตลอดจนศึกษาถึงวิธีการที่จะสามารถทำให้การพยากรณ์ผลผลิตมีความแม่นยำเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด

ดังนั้น การร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียมในการประมาณเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตพืชเศรษฐกิจ ระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ นำร่องโครงการพยากรณ์ผลผลิตข้าวโดยใช้ข้อมูลดาวเทียมร่วมกับการตั้งแปลงสังเกต โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้ความร่วมมือในฐานะหน่วยงานเจ้าของข้อมูล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการข้อมูลและพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งการดำเนินงานจะมีการนำข้อมูลดาวเทียม SMMS (Small Multi-Mission Satellite) มาใช้ในการวิเคราะห์เนื้อที่เพาะปลูกข้าว และค่าดัชนีพืชพรรณ (Vegetation Index : VI) เพื่อหาความอุดมสมบูรณ์ของต้นข้าว และมีการวัดค่าการสะท้อนแสงจากเครื่องมือ Spectrometer ในทุกระยะการเจริญเติบโตของข้าว ตั้งแต่ช่วงต้นกล้า ช่วงแตกกอ ช่วงตั้งท้อง ช่วงออกรวง และช่วงเก็บเกี่ยว โดยทั้งหมดนี้ จะถูกนำมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ร่วมกับข้อมูลดาวเทียมเพื่อวิเคราะห์ช่วงการเจริญเติบโตของข้าว อีกทั้งในจุดสำรวจเดียวกันนั้น ยังนำวิธีการสำรวจข้อมูลโดยการตั้งแปลงสังเกต (Objective Yield Survey; OYS) ซึ่งเป็นวิธีการสำรวจโดยการบันทึกข้อมูลการเจริญเติบโตของข้าวอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ช่วงเริ่มเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว เช่น จำนวนต้นหรือจำนวนกอต่อพื้นที่ตัวอย่าง จำนวนรวงต่อกอ จำนวนเมล็ดต่อรวง ตลอดจนน้ำหนักต่อเมล็ด เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบในการสร้างแบบจำลองเพื่อพยากรณ์ผลผลิตข้าว อันถือเป็นแนวทางใหม่ในการพัฒนาการพยากรณ์ผลผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นต่อไป

และจากการเกิดอุทกภัย เมื่อปลายปี 2554 ได้มีผลกระทบต่อระยะเวลาการเพาะปลูกข้าวทำให้พื้นที่ที่น้ำท่วมปลูกข้าวล่าช้ากว่าปีก่อนๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวและระยะเวลาเพื่อออกสู่ท้องตลาดต่างจากปีที่ผ่านมา ดังนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จึงได้มีการนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม SMMS มาประเมินเนื้อที่และติดตามการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2555 เพื่อคาดการณ์ผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดได้รวดเร็วและแม่นยำขึ้น โดยนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม SMMS มาวิเคราะห์เพื่อจำแนกเนื้อที่เพาะปลูกข้าว ประเมินเนื้อที่ และติดตามการเพาะปลูกข้าวนาปรัง โดยดำเนินการเดือนละ 1 ครั้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 เป็นต้นมา ซึ่งคาดว่าการนำข้อมูลดาวเทียมมาใช้จะทำให้สามารถคาดการณ์ปริมาณผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดได้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ต่อไป

สำหรับดาวเทียมเอนกประสงค์ขนาดเล็ก SMMS เป็นดาวเทียมภายใต้องค์กร (Asia Pacific Space Cooperation Organization; APSCO) ให้บริการข้อมูลดาวเทียมโดยสถานีรับสัญญาณดาวเทียมจุฬาภรณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งคุณสมบัติของดาวเทียม SMMS เป็นดาวเทียมที่สามารถบันทึกข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกได้ต่อเนื่อง โดยมีแถบความกว้างของข้อมูลประมาณ 700 กิโลเมตร สำหรับพื้นที่ประเทศไทยใช้เวลาบันทึกประมาณ 3 - 4 วัน จะสามารถมีข้อมูลดาวเทียมครอบคลุมทั้งประเทศ

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรยังได้มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ให้บริการหลังจากได้ข้อมูลด้านการเกษตรที่มีคุณภาพแล้ว ซึ่งข้อมูลที่ให้บริการ ประกอบด้วย ข้อมูลด้านการผลิตพืช ปศุสัตว์ และประมง ข้อมูลด้านการตลาด ต้นทุนพืช ปศุสัตว์ และประมง ราคาที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นา และราคา ณ ตลาดกลางที่สำคัญ เป็นรายวัน รายสัปดาห์ ดัชนีการผลิต ดัชนีราคา และดัชนีมูลค่าของสินค้าเกษตรที่สำคัญ ข้อมูลการนำเข้า — ส่งออกสินค้าเกษตร การพยากรณ์ผลผลิตสินค้าเกษตร ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนเกษตร (รายได้-รายจ่าย,หนี้สินของครัวเรือนเกษตร) การใช้และการถือครองที่ดินทางการเกษตร ภูมิสารสนเทศการเกษตร (แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน,ภาพถ่ายดาวเทียม) ผ่านช่องทางการเผยแพร่ข้อมูล ได้แก่ รายงานข้อมูลราคาผ่านทางโทรศัพท์มือถือ (Short Messaging Services : SMS) ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ให้บริการทางด่วนข้อมูลการเกษตรผ่านระบบ DTAC ร่วมกับมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด และระบบ AIS ในนามSMEs NEWS ผู้รับบริการสามารถทราบความเคลื่อนไหวด้านราคาสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่องทุกวันเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ วางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยมีขั้นตอนการสมัครรับบริการ ดังนี้

เครือข่าย DTAC ใช้บริการฟรีกด *1677 และเลือกรายการ

กด (1) ทุ่งรวงทอง บริการข้อมูลเกี่ยวกับข้าว

กด (2) สวนเงินไร่ทอง บริการข้อมูลเกี่ยวกับพืช ผัก ผลไม้และไม้ยืนต้น

กด (3) ปศุสัตว์เศรษฐี บริการข้อมูลเกี่ยวกับปศุสัตว์และประมง

เครือข่าย AIS กด *473699900 โดยให้ใช้บริการฟรี 14 วัน จากนั้น AIS จะมี SMS มายังลูกค้าเพื่อ

ยืนยันความต้องการและครั้งต่อไปจะเสียค่าบริการ 29 บาท/เดือน

นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่ผ่านทางตู้ประชาสัมพันธ์ หรือ ตู้บริการข้อมูล (Kiosk) เพื่อเผยแพร่และบริการข้อมูลข่าวสารทางการเกษตร โดยเฉพาะข้อมูลปริมาณการผลิต ราคาสินค้าเกษตร นโยบาย มาตรการด้านการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว กระจายอย่างทั่วถึงในระดับท้องที่ ให้เกษตรกรรับทราบข้อมูลและสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจ รวมทั้งสามารถสื่อสารได้สองทางระหว่างเกษตรกรกับภาครัฐ เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงและใช้งานได้สะดวก โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ในการติดตั้งตู้ Kiosk ที่ ธกส. สาขา กระจายทั่วทั้ง 76 จังหวัด จำนวน 76 เครื่อง และยังได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการเกษตรอาสาทั่วประเทศ ซึ่งดำเนินการโดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจการเกษตรในรูปแบบเอกสารต่างๆ หรือสามารถขอรับบริการได้ที่ทาง Call Center หมายเลขโทรศัพท์ 0 — 2940-6641, 0 — 2561 — 2870 หรือ 0 - 2579 — 2877 หรือสามารถติดต่อขอรับข้อมูลโดยตรงได้ที่ส่วนปฏิบัติการข้อมูลการเกษตร ศูนย์สารสนเทศการเกษตร

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ