ดีเดย์ 29 มี.ค. เปิดเวทีระดมความเห็น “โอกาสหรือภัยคุกคามของการเปิดเสรีการค้าสินค้าฯ”

ข่าวทั่วไป Tuesday March 27, 2012 10:55 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. เตรียมจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น “โอกาสหรือภัยคุกคามของการเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อมภาคเกษตร” ในวันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม 2555 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ สื่อมวลชนที่สนใจ สอบถามรายละเอียดได้ที่ ส่วนองค์กรและยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ สำนักเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ โทร. 0 — 2940 - 7033

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศรวมถึงการเกิดภัยธรรมชาติอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเมื่อเทียบกับในอดีต ประเทศพัฒนาแล้วซึ่งมีความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงได้พยายามเชื่อมโยงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมกับการค้า โดยสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอต่อที่ประชุมองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ในระหว่างการเจรจาการค้าโลกรอบโดฮา ณ นครเจนีวา เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 ขอให้มีการเจรจาลดภาษีสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศสมาชิก WTO นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังมีนโยบายเศรษฐกิจด้านอื่นที่ครอบคลุมเรื่องการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความพยายามดังกล่าวไม่ก้าวหน้ามากเท่าที่ควร สาเหตุหลักมาจากคำถามที่ว่าสินค้าอะไรบ้างที่จะถือว่าเป็นสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม บางประเทศมีข้อกังวลว่าประเทศสมาชิก WTO บางประเทศอาจใช้หลักการนี้ในการคุ้มครองสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศของตน หรือใช้โอกาสนี้ในการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้งานหลายอย่าง (Multiple Use) ในอัตราภาษีนำเข้าต่ำทั้งที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในการตีความทางกฎหมายถึงสินค้าที่คล้ายกัน หรือสินค้าที่ใช้แทนกันได้

ในขณะที่ United Nations Conference on Trade and Development (UNCTAD) ได้ให้คำนิยาม “สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Preferably Products: EPPs) คือสินค้าที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้ มีขั้นตอนในการทำลาย/ย่อยสลาย และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะใช้สินค้าเหล่านี้ทดแทนสินค้าอื่นๆ ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า ทั้งนี้ UNCTAD เสนอผลการศึกษาว่าการพิจารณาให้ EPPs จัดเป็นสินค้าสิ่งแวดล้อมโดยไม่รวมวิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (production Processing Methods: PPMs) จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาได้รับประโยชน์จากการเจรจาเรื่องนี้ สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเปคล่าสุด เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔ ผู้นำเอเปคได้รับรองให้ภายในปี พ.ศ. 2555 สมาชิกเอเปคจะร่วมกันกำหนดสินค้าสิ่งแวดล้อมในกรอบเอเปคที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อนำมาซึ่งการลดภาษีลงเหลือไม่เกินร้อยละ 5 หรือน้อยกว่า ภายในหรือก่อนปี พ.ศ. 2558 ซึ่งประเทศไทยการกำหนดขอบเขตสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะภาคเกษตร ซึ่งจากการหารือกับหลายหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังมีความคิดเห็นที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันเนื่องจากแต่ละหน่วยงานยังไม่แน่ใจว่าควรต้องพิจารณาโดยใช้หลักการใดมาปรับใช้สำหรับภาคเกษตรของไทย

ดังนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อเป็นการเตรียมการทำงานในเรื่องดังกล่าว จึงได้จัดการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น เรื่อง “โอกาสหรือภัยคุกคามของการเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อมภาคเกษตร” ในวันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม 2555 ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ 1 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรของประเทศไทยสามารถแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อมของภาคเกษตร อันจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างองค์กรทำให้สามารถกำหนดแนวทางการกำหนดขอบเขตของสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อมของภาคเกษตรไทย และเป็นเวทีสำหรับการบูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อมของภาคเกษตรไทย ซึ่งจะมีการนำเสนอเรื่อง “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม (EGS) และความคืบหน้าการเจรจาเกี่ยวกับ EGS ในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ” จากผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และการอภิปรายเรื่อง “โอกาสหรือภัยคุกคามของการเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อมภาคเกษตร” ทั้งนี้ สื่อมวลชนที่สนใจ สามารถเข้าร่วมรับฟังได้ โดยสอบถามรายละเอียดที่ ส่วนองค์กรและยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ สำนักเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 — 2940 - 7033

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ